Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ยาระบายหรือยาถ่าย


ยาระบายหรือยาถ่าย คือกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย ให้มีการขับถ่ายอุจจาระออกจากร่างกาย หรือถ่ายหนัก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แต่ก็มีการนำมาใช้เพื่อลดน้ำหนัก
ชนิดของยาระบาย แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้
1. ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (stimulant laxatives) เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก และใช้เพื่อลดความอ้วน เช่น ยาเม็ดเคลือบสีเหลืองเล็กๆ ที่มีชื่อสามัญทางยา ?บิสโคดิล? (bisacodyl) หรือ Dulcolax
2. ยาเพิ่มความเหลวของอุจจาระ (saline laxatives)
3. ยาเพิ่มกากใยไฟเบอร์ของอุจจาระ (bulk forming laxatives)
4. ยาสวนทหวารหนัก (fleet enema) ยาเหน็บทวารหนัก (suppositories)
ยาเหล่านี้ล้วนมีผลให้เกิดการระบายบรรเทาอาการท้องผูกได้ผลดี แต่แตกต่างกันที่กลไกการออกฤทธิ์ วิธีใช้ และระยะเวลาการออกฤทธิ์
ยาระบายช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ ?
ปกติแล้วเราจะสามารถลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักหรือลดไขมันหน้าท้องได้ ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก คือ การลดการกินอาหาร และการเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย เมื่อใดก็ตามถ้าการรับเข้าร่างกายมากกว่าการใช้ออกไป ร่างกายก็จะมีปริมาณสารอาหารหลงเหลือเกินการใช้ และถูกนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่เอวหรือหน้าท้อง ทำให้ท้องดูโป่งพองยื่นออกมาเป็นพุง ในทางกลับกันถ้ามีการใช้พลังงานมากกว่าการกินอาหารเข้าไป ร่างกายก็จะไปนำไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมาใช้เป็นพลังงานทดแทนการกิน ทำให้ความอ้วนลดลง ร่างกายก็จะดูผอมลง นอกจากนี้ อาหารที่เรากินเข้าไปส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึมจากลำไส้เล็กส่วนต้นแล้ว เหลือแต่กากใยอาหารส่งต่อมาสะสมที่ลำไส้ใหญ่ รอการระบายหรือถ่ายออกจากร่างกายไป ส่วนลำไส้ใหญ่นี้จะมีการดูดซึมน้ำออกจากกากอาหารจนเป็นก้อนอุจจาระ ดังนั้น ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่บีบตัวไล่อุจจาระที่สะสมอยู่ออกทิ้งไป จึงมีฤทธิ์ช่วยการระบายอุจจาระเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการลดการดูดซึมอาหาร หรือลดความอ้วนหรือลดไขมันที่สะสมบริเวณท้องหรือพุงของเราเลย แต่อาจจะส่งผลบ้างเล็กน้อยต่อน้ำหนักตัวที่ลดลงตามน้ำหนักของอุจจาระที่ถ่ายทิ้งออกไปจากร่างกาย เราเท่านั้น
ข้อควรระวังในการใช้ยาระบาย
1. ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม แต่ละคนมีความต้องการขนาดของยาที่แตกต่างกัน ตามความรุนแรงของอาการท้องผูก โดยเริ่มด้วยขนาดต่ำ หรือครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอนก่อน ถ้ายังได้ผลไม่ดี จึงค่อยๆ เพิ่มขนาด แต่ก็ไม่ควรจะเกินวันละ 5 เม็ด เพราะถ้ามีการใช้ยานี้มากเกินไปหรือเกินขนาด ก็จะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่มากเกินไป จนทำให้เกิดปวดมวนท้อง และอ่อนเพลีย เนื่องจากเสียน้ำและเกลือแร่ออกมากับอุจจาระมากเกินไปได้
2. ยาระบายจะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์หลังจากกินไปแล้ว 8 ชั่วโมง ถ้ากินก่อนนอน ก็พอดีกับเวลาที่เราพักผ่อนตอนกลางคืน พอตื่นนอนขึ้นมา ยาก็เริ่มแสดงฤทธิ์ เริ่มปวดท้องถ่ายอุจจาระพอดี
3. ในการใช้ยาระบาย ?ห้ามเคี้ยว? ทั้งนี้เพราะยาบิสโคดิลเป็นยาเม็ดที่ถูกออกแบบให้ภายนอก เคลือบน้ำตาลเป็นเกราะป้องกันกรดของกระเพาะอาหาร ยาชนิดนี้จึงไม่แตกตัวและออกฤทธิ์ในลำไส้ส่วนต้น และจะเริ่มแตกตัวไปออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วนปลายเท่านั้น
4. ควรใช้ยาระบายนี้เท่าที่จำเป็น เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ร่างกายของเราจะเริ่มทนต่อยา และจะทนต่อยามากขึ้นเรื่อยๆ ตามความถี่และปริมาณการใช้ยา การทนต่อยา คือการใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่จะให้ผลในการรักษาลดน้อยลงกว่าเดิม ถ้าต้องการให้ยาออกฤทธิ์ให้ผลเช่นเดิม ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น
อนึ่งในทัศนะของผู้เขียน ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้หรือเมื่อท้องผูกและต้องการระบายอุจจาระจริงๆ และไม่ควรใช้ยาระบาย สำหรับการลดความอ้วน เพราะไม่มีผลต่อการลดความอ้วน หรือลดน้ำหนักเลย และถ้าใช้พร่ำเพรื่ออาจเกิดภาวะทนต่อยา ต้องเพิ่มขนาดของยา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียทั้งต่อสุขภาพและทรัพย์สินเงินทอง

เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ. จรัสพล รินทระ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Business

Blog M