Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ถุงลมปอดโป่งพอง ถุงลมพอง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง


ชื่อภาษาอังกฤษ
Emphysema, Chronic obstructive pulmonary disease (COPD)

♦ สาเหตุ
ผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีประวัติสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) นาน 10-20 ปีขึ้นไป
สารพิษในบุหรี่จะค่อยๆ บ่อนทำลายเยื่อบุหลอดลมและ ถุงลมในปอด (ถุงลมปอด) ทีละน้อย ใช้เวลานานนับสิบๆ ปี จนในที่สุดถุงลมปอดพิการ คือสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ (นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอากาศเสียออกจากร่างกาย และนำออกซิเจนซึ่งเป็นอากาศดีเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบทางเดินหายใจ) เกิดอาการหอบเหนื่อยง่าย และเกิดโรคติดเชื้อของปอดซ้ำซาก

นอกจากบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนน้อยยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มลพิษในอากาศ (ฝุ่น สารเคมี) ควันจากฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในบ้านที่ขาดการถ่ายเทอากาศ (พบในพื้นที่เขตเขาทางภาคเหนือ) เป็นต้น

♦ อาการ
ผู้สูบบุหรี่จัดมานานหลายปี ระยะแรกจะมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง กล่าวคือจะมีอาการไอมีเสมหะเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ จนนึกว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษา ต่อมาจะเริ่มไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวัน และมีเสมหะจำนวนมาก ในช่วงแรกเสมหะมีสีขาว ต่อมาอาจจะกลายเป็นสีเหลืองหรือเขียว มีไข้ หรือหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราวจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน

หากผู้ป่วยยังขืนสูบบุหรี่ต่อไป นอกจากอาการไอเรื้อรังดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงมาก (เช่น วิ่ง เดินขึ้นบันได ยกของหนัก) อาการหอบเหนื่อยจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น แม้แต่เวลาเดินตามปกติ เวลาพูดหรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย
หากผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ต่อไป ในที่สุดอาการจะรุนแรง จนแม้แต่อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกหอบเหนื่อย ทั้งนี้เนื่องจากถุงลมปอดพิการอย่างรุนแรง ไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศ นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เกิดพลังงาน

ในระยะหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหนักเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีการติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) แทรกซ้อน ทำให้มีไข้ ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว หายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ดๆ ตัวเขียว จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

เมื่อเป็นถึงขั้นระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด รูปร่างผ่ายผอม มีอาการหอบเหนื่อย อยู่ตลอดเวลา มีอาการทุกข์ทรมานและรู้สึกท้อแท้

♦ การแยกโรค
อาการไอเรื้อรังหรือหอบเหนื่อย อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกับถุงลมปอดโป่งพอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการไอ มีเสมหะอย่างเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี แต่ยังไม่มีอาการหอบเหนื่อยง่าย

- โรคหืด ซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยมักจะมีอาการหอบหืด (หายใจมีเสียงดังวี้ด) เป็นครั้งคราว ขณะไม่จับหืดก็จะรู้สึกสบายดี มักพบตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว

- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มักมีหัวใจบกพร่องในการทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต (เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว) จะมีอาการหอบเหนื่อยง่าย และเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง เวลานอนราบ (หนุนหมอนต่ำ) ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง หรือหอบเหนื่อยง่าย ก็ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากประวัติและอาการแสดงของผู้ป่วย (ไอเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน 10-20 ปี) และยืนยันการวินิจฉัย ด้วยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ทดสอบสมรรถภาพของปอด ตรวจเลือด (วัดระดับออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด) ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

♦ การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง หรือหอบเหนื่อยง่าย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
หากตรวจพบว่าเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพองก็ควรปฏิบัติดังนี้

- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอและใช้ยารักษาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
- เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษ เช่น ฝุ่น ควัน
- ดื่มน้ำมากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยขับเสมหะ
- ในรายที่เป็นระยะรุนแรง มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรหาทางบำรุงอาหารให้ร่างกายแข็งแรง
- หากจำเป็นควรมีถังออกซิเจนไว้ประจำบ้าน เพื่อใช้ช่วยหายใจ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย
- หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้ หายใจหอบ ก็ควรรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
โดยทั่วไปจะให้ยาขยายหลอดลมชนิดสูดพ่น เวลามีอาการหายใจเหนื่อยหรือมีเสียงดังวี้ด ในรายที่เป็นมากอาจให้ยาสตีรอยด์ชนิดสูดพ่นร่วมด้วย

ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะเหลืองหรือเขียว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน) นาน 7-10 วัน

ในรายที่มีอาการหอบรุนแรง ปอดอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อน (เช่น ปอดทะลุ หัวใจล้มเหลว) แพทย์ก็จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องให้ออกซิเจน ใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ

ในระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีภาวะการหายใจล้มเหลวเรื้อรังร่วมด้วย และอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวแทรกซ้อน (มีอาการหอบเหนื่อย เท้าบวม)

นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดทะลุ (จากการที่ถุงลมแตก) ไอออกเป็นเลือด (จากการอักเสบของหลอดลม) ไส้เลื่อนกำเริบ (เนื่องจากอาการไอเรื้อรัง) เป็นต้น

♦ การดำเนินโรค
โรคนี้จะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต และจำเป็นต้องพบแพทย์และใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง

ในระยะที่เริ่มเป็น หากเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดก็มักจะได้ผลดี โรคจะไม่ลุกลามมากขึ้น แต่ถ้ายังสูบบุหรี่ต่อไป ก็จะลุกลามจนถึงระยะรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าว

ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลว ปอดอักเสบ หรือปอดทะลุ
โดยเฉลี่ย ผู้ป่วยมีอัตราตายมากกว่าร้อยละ 50 ใน 10 ปี หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัย

♦ การป้องกัน
ที่สำคัญคือ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ

♦ ความชุก
โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบมากในช่วงอายุ 45-65 ปี ส่วนใหญ่จะมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)


โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างขึ้นมาในร่างกายของเรามีหน้าที่ในการนำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานของร่างกาย
โดยปกติแล้วอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่กินเข้าไปใช้เป็นพลังงาน จะต้องถูกย่อยที่ทางเดินอาหารไปเป็นน้ำตาลขนาดเล็กๆ แล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่เลือด กระจายไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย และต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลินในการนำน้ำตาลเหล่านี้เข้าสู่เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ นำไปใช้เป็นพลังงานในที่สุด
ทว่าภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกตินี้ เกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน ซึ่งอาจเกิดจากปริมาณฮอร์โมนอินซูลินที่มีน้อยกว่าปกติ หรือบางคนอาจมีระดับฮอร์โมนอินซูลินเป็นปกติแต่อินซูลินที่มีอยู่นี้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็ได้

สังเกตว่าเป็นโรคเบาหวานได้อย่างไร?
คำว่า “เบาหวาน” ที่เป็นชื่อเรียกโรคนี้มาจากคำไทยสองคำ คือ “เบา” ซึ่งหมายถึง ปัสสาวะ และ “หวาน” ซึ่งหมายถึงรสชาติหวาน เมื่อนำมาผสมกันก็จะหมายถึงโรคที่มีปัสสาวะรสหวาน หรือมีนัยว่ามีน้ำตาลละลายอยู่ในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน ซึ่งไม่พบในคนปกติ ทั้งนี้เพราะในเลือดมีน้ำตาลอยู่มากเกินไป น้ำตาลที่มีปริมาณสูงเกินไปนี้จะถูกขับทิ้งออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวานของน้ำตาล
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องตื่นกลางดึกมาเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะบ่อยขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น

ผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน
ยิ่งไปกว่านั้นมีรายงานสำรวจพบว่า “กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน” หรือผู้ป่วยจำนวนมากเป็นโรคเบาหวานแล้ว แต่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน
เมื่อไม่รู้ตัวว่าเป็นก็ไม่ได้ไปหาหมอเพื่อให้การรักษา ส่งผลให้โรคลุกลามเป็นมากขึ้น บางคนเป็นมากจนรู้สึกชาตามปลายมือปลายเท้า หรือตาเริ่มมองไม่เห็น หรือเป็นโรคไตแล้วจึงจะมาพบแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาช้ากว่าที่ควร

ใครคือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ “ผู้ที่อ้วน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน อายุตั้งแต่ ๔๕ ปีขึ้นไป และ/หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง”
ควรจะสังเกตความผิดปกติของตนเอง เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะกลางคืน มีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น และควรไปตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี จะได้ช่วยคัดกรองโรคเบาหวานแต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกัน หรือได้รับการรักษาตามความเหมาะสม

ถ้าควบคุมเบาหวานไม่ได้ จะเกิดผลอย่างไร
ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า โรคเบาหวานคือระดับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งน้ำตาลที่ละลายอยู่ในเลือดนี้ ถ้ามีระดับสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพไป และส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญและพบได้บ่อย ได้แก่ ปลายมือปลายเท้า ไต ตา เป็นต้น
ดังนั้น จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ ทั้งนี้เพื่อสุขภาวะของอวัยวะต่างๆ

ถ้าเป็นเบาหวานแล้วจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างไร
คงจะยังจำได้ใช่ไหมครับว่า น้ำตาลในเลือด..มาจากไหน? ก็มาจากอาหารที่เรากินเข้าไป และเป็นอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเท่านั้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ได้แก่ ข้าว ข้าวเหนียว ขนมปัง แป้ง โรตี ขนมจีน น้ำตาล ฯลฯ
อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลนี้แหละเมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลแล้วดูดซึมเช้าไปในเลือด ถ้ากินอาหารประเภทนี้พอประมาณ ก็จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี

อาหารและการออกกำลังกาย เป็นคำตอบที่ดีที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยอย่างดีในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคือการออกกำลังกาย โดยเริ่มทีละเล็กทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถออกกำลังกายให้ได้ตั้งแต่ ๓-๕ ครั้งต่อสัปดาห์ และแต่ละครั้งนาน ๓๐ นาทีขึ้นไป ก็จะช่วยให้ร่างกายควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ดียิ่งขึ้น
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะดีต่อโรคเบาหวานเท่านั้น ยังส่งผลดีเลิศต่อทุกระบบของร่างกายอีกด้วย เปรียบได้กับ “ยาวิเศษ” ที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะและความแข็งแรงของการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท ระบบขับถ่าย ฯลฯ ช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ พักผ่อนได้เต็มที่ อารมณ์สดชื่น แจ่มใส

การใช้ “ยารักษาโรคเบาหวาน” อย่างชาญฉลาด
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว ควรจะใช้อย่างไรเพื่อให้ผลการรักษาอย่างดีที่สุด ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด
๑. ควรปรึกษาหารือเรื่องการกินอาหารและการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร
ข้อที่สำคัญที่สุดในการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน เพราะว่ายาที่จะใช้นี้เพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เหตุที่ยกให้ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะน้ำตาลในเลือดจะสูงจะต่ำขึ้นอยู่กับอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป ถ้ากินข้าวมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น ถ้าเราลดปริมาณข้าวลง จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตามไปด้วย
นอกจากข้าวซึ่งเป็นแป้งชนิดหนึ่งแล้ว ยังรวมถึงอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ข้าวเหนียว ขนมปัง โรตี ขนมจีน น้ำตาล มันฝรั่ง บะหมี่ น้ำหวาน ฯลฯ
ในโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ซึ่งก็มาจากอาหารแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป เมื่อเรากินยารักษาเบาหวานก็ต้องการให้ไปออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ ซึ่งยาจะไปออกฤทธิ์กับน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลในเลือดมาจากอาหาร
ดังนั้น จึงควรใช้ยารักษาเบาหวานให้สัมพันธ์กับอาหารแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป จึงจะได้ผลดีและไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ขอยกตัวอย่างดังนี้
“คุณสมชายเป็นโรคเบาหวาน และต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีวิธีใช้ ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ซึ่งถ้าคุณสมชายกินอาหาร วันละ ๓ มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ก็คงไม่เป็นปัญหา
แต่ถ้าคุณสมชายกินอาหารเพียงวันละ ๒ มื้อ คือ ตอนกลางวันและตอนเย็น และถ้าคุณสมชายกินยามื้อเช้า ยามื้อนี้ก็จะไปออกฤทธิ์...โดยที่ยังไม่ได้กินอาหาร
ผลของการกินยามื้อเช้า แต่ไม่ได้กินอาหารเช้า ก็อาจทำให้ยาไปลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำเกินไป จนเกิดอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น หวิวหวิว และเป็นลมได้”

บางคนระดับน้ำตาลต่ำมากจนเกิดอันตรายขึ้นได้ จึงขอสรุปการใช้ “ยารักษาโรคเบาหวาน” อย่างชาญฉลาด ข้อแรกว่า “ควรปรึกษาหารือเรื่องการกินอาหารและการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร” เพื่อการใช้ยารักษาเบาหวานให้สัมพันธ์กับอาหารแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป จะได้เกิดประโยชน์ในการใช้ยา ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไป หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ถ้าได้ยาไม่สัมพันธ์กับอาหาร เพราะด้วยภาวะสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบไปเสียทุกอย่าง อาหารการกินก็อาจจะไม่ได้ตรงเวลาเสมอไป จึงควรไปปรึกษาเรื่องการใช้ยารักษาเบาหวานกับแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ
๒. ควรใช้ยารักษาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
ข้อถัดมาที่สำคัญเช่นกันคือ การใช้ยารักษาเบาหวานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะยามีฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง หรือต่ำเกินไป ตราบใดที่คนเรายังกินอาหาร ซึ่งต้องประกอบด้วยแป้งและ/หรือน้ำตาลเสมอ ตราบนั้นก็ยังคงต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าอาการผิดปกติของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน มีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า จะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ตาม
ขอย้ำอีกครั้งว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกตินี้ เกิดจากแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป นอกจากยาแล้ว เรื่อง ปริมาณแป้งและน้ำตาล และการออกกำลังกาย ก็เป็นอีก ๒ เสาหลักที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้

โรคเริม

โรคเริม (herpes simplex หรือ cold sore) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในเมืองไทย และมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อ เฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (herpes simplex virus, ชื่อย่อ HSV) ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสัมผัสกับน้ำเหลืองของผู้ป่วยผ่านทางเยื่อบุหรือผิวหนังถลอกเป็นแผลเปิดของผู้รับเชื้อ เช่น การจูบ ร่วมเพศ หรือการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย หลอดดูดกาแฟ ช้อนส้อม แก้วน้ำ เป็นต้น

ชนิดของโรคเริม
ในทางการแพทย์สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริมนี้เป็น ๒ ชนิด คือ

๑. เฮอร์ปีส์ ชนิดที่ ๑ (herpes simplex virus type I ชื่อย่อ HSV-I) ซึ่งมักเป็นบ่อยบริเวณริมฝีปาก หรือในช่องปากเป็นส่วนใหญ่

๒. เฮอร์ปีส์ ชนิดที่ ๒ (herpes simplex virus type II ชื่อย่อ HSV-II) ซึ่งมักทำให้เกิดโรคเริมที่บริเวณอวัยวะเพศของทั้งเพศชายและเพศหญิง

เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างทั้ง ๒ ชนิด พบว่า โรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๑ จะมีอาการแสดงออกที่รุนแรงน้อยกว่าโรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๒ รวมถึงในเรื่องการกลับมาเป็นใหม่ของโรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๑ จะมีระยะเวลาในการกลับมามีอาการอีกได้นานกว่า หรือมีความถี่ในการเป็นน้อยกว่า โดยเฉลี่ยปีละ ๑-๒ ครั้ง หรือทุก ๖-๑๒ เดือน ในขณะที่โรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดที่ ๒ มักมีการกลับมาเป็นได้บ่อยกว่า โดยเฉลี่ยปีละ ๓-๔ ครั้ง และในบางรายอาจกลับมามีอาการทุกเดือนก็เป็นได้

อาการของโรคเริม
หลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ ๑ สัปดาห์ จะเริ่มต้นแสดงอาการ คันๆ เจ็บๆ หรือปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง แล้วต่อมาจะเริ่มมีอาการอักเสบของผิวหนัง เกิดอาการบวม แดง ร้อน และเริ่มพองเป็นตุ่ม น้ำใส เรียงตัวเกาะกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ ๒-๑๐ เม็ด ลักษณะคล้ายไข่ปลาหรือพวงองุ่น ต่อมาตุ่มน้ำใสเหล่านี้ ก็จะพองโตและแตกออกกลายเป็นแผลเปิดชนิดแผลตื้นๆ หลายแผลติดๆ กัน คล้ายแผลร้อนในภายในช่องปาก และมักจะหายได้เอง ภายใน ๑-๓ สัปดาห์ ในกรณีที่มีอาการของโรคเริมครั้งแรก ในบางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ต่ำๆ คล้ายกับอาการของไข้หวัดร่วมด้วย

การกลับมาเป็นใหม่ของโรคเริม
เชื้อโรคชนิดนี้เมื่อออกมาแสดงอาการและแผลหายดีแล้ว เชื้อไวรัสจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท ซึ่งยาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายได้ เป็นระยะพักหรือ หลบซ่อนตัวของเชื้อไวรัสโดยที่ไม่แสดงอาการออกมา รอเวลาจนกว่าสภาวะความแข็งแรงของร่างกายลดต่ำลง เช่น ตอนอ่อนเพลีย ภูมิต้านทานของร่างกาย ลดต่ำลง สตรีที่กำลังมีประจำเดือน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในภาวะที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อยเกินไป อารมณ์เครียด คิดมาก กำลังเจ็บป่วย อากาศร้อนและแสงแดดจัด เมื่อใดก็ตามที่สภาวะของร่างกายอ่อนแอ โรคนี้ก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่ ณ ตำแหน่งที่เดิมหรือใกล้เคียง ดังนั้น จึงควรป้องกันไม่ให้โรคเริมกลับมาอีก ด้วยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ระดับความรุนแรงของโรคเริม
ในการเป็นโรคเริมครั้งแรกมักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าเมื่อกลับมาเป็นใหม่ และในผู้ที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก หรือเกิดจากเชื้อเฮอร์ปีส์ชนิดที่ ๑ มักมีระดับความรุนแรงของโรคน้อยกว่าผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ หรือโรคเริมที่เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ชนิดที่ ๒

การรักษาโรคเริม
เนื่องจากโรคเริมเกิดจากเชื้อไวรัสและหายได้เอง จึงแนะนำให้รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เมื่อมีอาการปวด หรือมีไข้ และอาจจะประคบเย็นให้กับแผล เช่น การทำ wet dressing (การนำผ้าก๊อซมาชุบน้ำเกลือหมาดๆ วางลงด้านบนของแผล) เพื่อให้ความเย็น รู้สึกสบายแก่แผล และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และในกรณีที่แผลแตกเป็นแผลอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนอง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย การใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งในปัจจุบันมี ๓ ชนิด คือ อะไซโคลเวียร์ (acyclovir), แฟมไซโคลเวียร์ (famciclovir), และวาลาไซโคลเวียร์ (valaciclovir) ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ในการใช้ยากลุ่มนี้ ควรใช้ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ไวรัสจะหยุดการเพิ่มจำนวน จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ในทางปฏิบัติเมื่อตุ่มน้ำใสแตกออกเป็นแผลแล้วจะไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เพราะเป็นระยะที่ไวรัสหยุดการเพิ่มจำนวนแล้ว ในรายที่เป็นครั้งแรก ควรใช้ยาเม็ด เช่น อะไซโคลเวียร์ ขนาด ๒๐๐ มก./เม็ด วันละ ๕ ครั้ง (ทุก ๔ ชั่วโมง) เป็นระยะเวลาติดต่อกัน ๕ วัน เหมือนดังคำถามข้างต้นที่ได้รับมาทั้งสิ้น ๒๐ เม็ด ในรายที่กลับมาเป็นใหม่ (recurrent attack) อาจรักษาตามอาการ หรือใช้ยาทาอะไซโคลเวียร์ ซึ่งควรใช้ทันทีที่เริ่มมีอาการ อาจช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และควรใช้ยาทาชนิดนี้ วันละ ๕ ครั้ง ทุก ๓-๔ ชั่วโมง ในรายที่มีการกลับมาเป็นโรคเริมได้บ่อยๆ เช่น เป็นโรคเริมทุกเดือน ในกรณีนี้อาจใช้ยาในขนาดป้องกัน การเกิดโรคเริม ด้วยการกินยาเม็ดอะไซโคลเวียร์ ขนาด ๒๐๐ มก./เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จะช่วยลดการกลับมาเป็นใหม่ได้ดี

ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโรคเริม

๑.งดการสัมผัส หรือมีเพศสัมพันธ์กับรอยแผลของโรคเริม จนกระทั่งแผลหายดีแล้ว พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบริเวณที่เป็นแผล เพราะอาจจะแพร่ไปสู่คนใกล้ชิด หรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ ถ้าจำเป็นควรใช้เครื่องป้องกัน เช่น สวมถุงยางอนามัย เป็นต้น

๒. ควรเลือกใช้เครื่องแต่งกายที่ขนาดพอดีตัว ไม่คับเกินไป อาจเลือกชุดที่ทำด้วยฝ้าย

๓.สตรีที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจภายในเดือนละ ๑-๒ ครั้ง

๔.ควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่

นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยได้บันทึกและมีการสืบทอดถึงสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งชื่อ พญายอ หรือ เสลดพังพอน ซึ่งมีการพัฒนาในรูปแบบยาครีมสำหรับรักษาโรคเริม ซึ่งให้ผลในการรักษาได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาทาอะไซโคลเวียร์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคเริม

แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันดีกว่ารักษาจึงควรพยายามรักษาสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมโดยตรง การล้างมือบ่อยๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อที่ได้ผลดี และในกรณีที่เป็นโรคนี้ก็ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้กลับมามีอาการอีก แต่ถ้ามีอาการขึ้นมาก็ควรรักษาสุขลักษณะที่ดี เพื่อให้แผลหายไวและลดการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

สุดท้ายนี้คงได้คำตอบแล้วว่า ยาที่ได้ใช้รักษาโรคเริมโดยตรง แต่เมื่อหายดีแล้ว อาจกลับมาเป็นใหม่ได้ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ

เริม อาการ การติดต่อ วิธีรักษา โรค เริม


เริม เรารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โรค เริม ทั้งอาการ การติดต่อ และวิธีรักษา และข้อมูลด้านอื่นๆที่เกี่ยวกับโรคเริม หวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะครับ

เริม Herpes simplex

การติดเชื้อ herpes simplex

เชื้อ herpes virus [HSV]เป็นสาเหตุที่สำคับของการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ริมฝีปากและอวัยวะเพศและอาจจะติดเชื้อที่ส่วนอื่นของร่างกายและอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ลักษณะผื่นของโรค herpes จะเหมือนกันไม่ว่าเกิดที่ไหน จะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆบนผิวหนังที่อักเสบสีแดง

เชื้อ herpes มีสองชนิดคือ

Herpes simplex virus 1 (HSV-1) มักเกิดบริเวณปากและผิวหนังเหนือสะดือขึ้นไปเกิดที่ปากเรียก Herpes labialis โรคนี้ไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Herpes simplex virus 2 (HSV-2) เชื้อมักเกิดบริเวณอวัยวะเพศและติดต่อโดยเพศสัมพันธ์เรียก Herpes genitalis
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนังเชื้อจะแบ่งตัวทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ หลังจากนั้นเชื้อจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ปมประสาท ganglia เป็นเวลานานโดยที่ไม่มีการแบ่งตัวถ้าหากปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมเชื้อก็เกิดการแบ่งตัวทำให้เกิดอาการเป็นซ้ำผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปากจะมีอัตราการเกิดซ้ำประมาณร้อยละ 20-40 สำหรับเริมที่อวัยวะเพศจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณร้อยละ 80 ปัจจัยที่กระตุ้นไม่แน่นชัดเชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับแสงแดด ไข้ การมีประจำเดือน ความเครียด การเกิดเป็นซ้ำจะมีอาการน้อยกว่าและหายเร็วกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก

เริม อาการของการติดเชื้อ herpes simplex

อาการเริมต้นจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนตำแหน่งที่ได้รับเชื้ออาการของการติดเชื้อที่ปากและที่อวัยวะเพศจะเหมือนๆกันเพียงแต่ขึ้นกันคนละที่อาการจะแบ่งเป็น การเป็นครั้งแรก Primary Infection ระยะปลอดอาการ Latency and Shedding และอาการกลับเป็นซ้ำ Recurring Infections

การเป็นครั้งแรก Primary Infection เริ่มด้วยอาการปวดแสบร้อนต่อมาจะมีอาการบวมและอีก 2-3 วันจะมีตุ่มน้ำใสเกิดบนฐานสีแดงตุ่มน้ำแตกออกใน 24 ชั่วโมงและตกสะเก็ด ตุ่มอาจจะรวมเป็นกลุ่มใหญ่และเป็นแผลกว้างทำให้ปวดมาก แผลจะหายใน 2-3 สัปดาห์ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยได้แก่ ปาก ริมฝีปาก ตา เมื่อแผลแห้งแล้วจะไม่ติดต่อระหว่างที่เป็นผื่นต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆอาจจะโตและอาจจะมีไข้ปวดเมื่อยตามตัว
ระยะปลอดอาการ Latency and Shedding ช่วงนี้เชื้ออยู่ในร่างกายโดยที่ไม่เกิดอาการอะไร เชื้ออาจจะแบ่งตัวและสามารถติดต่อได้โดยเฉพาะเชื้อที่อวัยวะเพศแม้ว่าจะไม่มีผื่น
อาการกลับเป็นซ้ำ Recurring Infections มีอาการน้อยกว่า และเป็นพื้นที่น้อยกว่าไม่ค่อยมีไข้ และมักเป็นบริเวณใกล้กับที่เดิมโดยเฉพาะที่อวัยวะเพศอาจจะกลับเป็นซ้ำได้ 5 ครั้งต่อปี
ปัจจัยกระตุ้นในการกลับเป็นซ้ำ เริม

สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นได้แก่ การถูไถ การสัมผัสลม แสง ความเย็น เสื้อผ้าคับๆ เหงื่อ
ความเครียด
อาหารได้แก่ ถั่ว กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต
การมีประจำเดือน
การนอนหลับ ความเครียด ไข้
เริม ใครมีปัจจัยเสี่ยงในการได้รับเชื้อ herpes simplex

ทุกๆคนจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ herpes simplex โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะไม่ดี โดยเชื้อ (HSV-1) จะติดต่อทางสารหลั่งในปาก ส่วน (HSV-2) จะติดต่อทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก เมื่อเชื้อเข้าทางผิวหนังเชื้อจะไปตามเส้นประสาททำให้เชื้อลามเป็นบริเวณกว้างและอาจจะเกิดผื่นที่บริเวณใหม่

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเริมที่ปากคือวัยเด็กอายุ 4-5 ปีมักติดต่อทางการสัมผัสเช่นการใช้ของร่วมกัน การจูบ ไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เชื้อนี้สามารถติดต่อจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยเฉพาะที่ตาโดยการสัมผัสด้วยมือดังนั้นต้องล้างมือให้สะอาด
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเริมที่อวัยวะเพศมักเกิดในผู้ที่มีคู่ขาหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก oral sex ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุมักจะเป็น type 1 การป้องกันการติดเชื้อควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางคุมกำเนิดขณะมีอาการติดเชื้อ
การเป็นเริมในทารกมักจะติดเชื้อในแม่ที่ติดเชื้อ HSV-2 และมีการคลอดก่อนกำเนิดหรือต้องใช้เครื่องมือในการคลอด
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นเช่น นักมวยปล้ำ นักรักบี้ นักมวย ผู้ป่วยโรคเอดส์
มีการศึกษาว่าแม้จะไม่มีผื่นหรืออาการเชื้อก็สามารถแพร่ออกมาได้ ดังนั้นไม่มีหลักประกันว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่มีอาการจะปลอดภัยจากโรคเริม

เริม โรคแทรกซ้อนของการติดเชื้อ herpes simplex

การตั้งครรภ์และการติดเชื้อ herpes simplex พบว่าคนท้องที่ติดเชื้อประมาณร้อยละ 0.01.0.04 อาจจะเกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด เด็กเจริญเติบโตช้าโดยเฉพาะการติดเชื้อใกล้คลอดดังนั้นแนะนำว่าควรจะรักษาหากเกิดการติดเชื้อเมื่อใกล้คลอด การติดเชื้อครั้งแรกจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าการติดเชื้อที่กลับเป็นซ้ำ
Herpes Encephalitis เกิดจากเชื้อที่อยู่ในระยะ Latency และเกิดการแบ่งตัวผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตหากไม่ได้รักษาแต่โชคดีที่พบน้อย
Herpes Meningitis พบได้ร้อยละ 4-8 ในคนที่เป็น primary genital HSV-2พบมากในผู้หญิงแต่ไม่ต้องตกใจเนื่องจากหายเองใน 2-7วันผู้ป่วยจะปวดศีรษะ อาเจียน และมีไข้
ผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากยา เช่น steroid มะเร็ง ยารักษามะเร็งหากผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อ herpes simplex จะเป็นรุนแรงมีโรคแทรกซ้อนปอดบวม ตับอักเสบ สมองอักเสบ
การติดเชื้อที่ตา อาจจะทำให้ตาพร่ามัว ในรายที่เป็นรุนแรงอาจจะทำให้ตาบอด
การวินิจฉัย เริม


สามารถทำได้โดยการซักประวัติและการตรวจร่างกายพบผื่นดังกล่าวข้างต้น
การเพาะเชื้อไวรัสโดยการนำน้ำใต้ตุ่มใสไปเพาะเชื้อโดยเฉพาะควรจะนำหลังจากเกิดผื่นแล้วไม่เกิน 3 วันการตรวจนี้ไม่ได้ผลในรายที่ผื่นตกสะเก็ด หรือผื่นของการกลับเป็นซ้ำ
การตรวจโดยกล้องจุลทัศน์โดยการนำเนื้อเยื่อไปส่องกล้องพบเซลล์ตัวโต
การรักษา เริม

มียารับประทานให้เลือก 3 ตัวให้เลือกในการรักษา ยาทั้ง 3 ตัวมิไดให้หายขาดเพียงแต่ลดความรุนแรง ลดความถี่และลดระยะเวลาที่เป็น ยาทั้ง 3 ได้แก่ Acyclovir,Valacyclovir,Famciclovir การให้ยามีได้ 2 ลักษณะคือ

Acute therapy หมายถึงการเริ่มให้ยาตั้งแต่เริ่มมีอาการคือปวดแสบปวดร้อนโดยที่ยังไม่มีผื่นขึ้น ถ้ามีผื่นขึ้นจะไม่ได้ผล ให้ยาครบ 5 วัน
Suppress therapy คือการให้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำจะเลือกให้ในรายที่เกิดกรกลับเป็นซ้ำบ่อย หรือมีโรคประจำตัว
สำหรับยาทายังไม่มียาทาที่ได้ผลดี ยาทาอาจจะได้ผลในแง่ลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็วยาที่นิยมใช้คือ acyclovir ครีมซึ่งได้ผลเฉพาะ primary lesion ยาทาไม่ช่วยลดจำนวนเชื้อหรือลดระยะเวลาที่เป็นโรค สำหรับยาอื่นต้องเลือกให้ดีเพราอาจจะมีแอลกอฮอล์ หรือสารที่ระคายอย่างอื่นซึ่งทำให้แผลหายช้ายาซึ่งมีส่วนผสมของ steroidก็ไม่ควรใช้เพราะแผลจะหายช้า

เป็นครั้งแรก
(รักษา 7-10 วัน)
กลับเป็นซ้ำ
(รักษา 5 วัน)
การป้องกัน

acyclovir (Zovirax) 400mg 3ครั้ง/วัน
หรือ
200mg 5ครั้ง/วัน
400mg 3ครั้ง/วัน
หรือ
200mg five times/day
หรือ
800mg 2ครั้ง/วัน
400mg 2ครั้ง/วัน

famciclovir
(Famvir) 250mg 3ครั้ง/วัน
125mg 2ครั้ง/วัน
250mg 2ครั้ง/วัน

valacyclovir
(Valtrex) 1000mg 2ครั้ง/วัน
500mg 2ครั้ง/วัน
500mg วันละครั้ง
or
1000 mg วันละครั้ง

โรค “เอแอลเอส (ALS)” ที่ว่านี้...เป็นอีกหนึ่งโรคซึ่งที่ผ่านมาคนไทยเราไม่ค่อยคุ้น ทั้งนี้ โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับ “ระบบประสาท-เซลล์ประสาท” โดยจากข้อม


เผยสาเหตุโรค"เซ็กซ์เสื่อม"ในผู้หญิงเกิดจากปัญหา"สุขภาพจิต" จากประสบการณ์ทางเพศ ที่โหดร้าย เช่น ถูกข่มขืน ถูกคนรักทอดทิ้ง หรือวัยเด็กได้รับการอบรมปลูกฝังว่า เรื่องเซ็กซ์เป็น เรื่องต้องห้าม สูติ-นรีแพทย์ชี้ โรคนี้เป็นแล้ว "ซ่อมได้" โดยไม่ต้องใช้ยา

ขอถามถึงหัวอกผู้ชายบ้างเถอะว่า หากวันหนึ่งวันใด ภรรยาของคุณไม่ใส่ใจในเรื่อง เพศสัมพันธ์ มองเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องต้องห้าม หรือที่เจ็บปวดสุดๆ กลายเป็น "ท่อนซุง" ในขณะที่คุณกำลังปฏิบัติกิจ ทางเพศสัมพันธ์ เชื่อเถอะ ใครเจอแบบนี้ ยังใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ก็บ้าแล้ว

ที่ผ่านมาถ้าพูดถึงโรคเซ็กซ์เสื่อม ร้อยทั้งร้อยต่างมองปัญหานี้ ไปที่กลุ่มผู้ชาย เพียงกลุ่มเดียว ที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกกันว่าโรค "เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ" หรือชาวบ้านเรียกว่า "ผู้ชายมะเขือเผา"

ทว่าปัญหาโรคเซ็กซ์เสื่อม ไม่ได้เกิดขึ้นกับ กลุ่มผู้ชายเท่านั้น กลุ่มผู้หญิง ก็มีโอกาสเป็น โรคเซ็กซ์เสื่อม หรือ ทางการแพทย์เรียกว่า FRIGIDITY ซึ่งแปลว่า "กามเย็นชา" ได้เช่นกัน

น.พ.พันธ์ศักดิ์ ศุภระฤกษ์ สูติ-นรีแพทย์ เปิดเผยว่าโรคเซ็กซ์เสื่อม ไม่ได้เกิดเฉพาะ ในกลุ่มผู้ชาย เพียงอย่างเดียวเท่านั้น กลุ่มผู้หญิงก็มีโอกาส เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน และเชื่อว่า มีผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อย เป็นโรคเซ็กซ์เสื่อม

โรคเซ็กซ์เสื่อมของผู้หญิง จะมีสาเหตุ และเป็นปัญหามาจาก "จิต" ซึ่งแตกต่างจากผู้ชาย ที่เกิดจากสรีระ นั่นคือ อวัยวะเพศที่เสื่อมและใช้งานไม่ได้ เมื่อมีอารมณ์ทางเพศ แต่ไม่สามารถ ปฏิบัติภารกิจได้ และผลตามคือ ทำให้สุขภาพจิตเสีย แม้จะไม่มีสถิติยืนยันว่า มีผู้หญิงจำนวนเท่าไหร่ ที่ป่วยเป็นโรคเซ็กซ์เสื่อม เพราะเป็นเรื่องยากมาก ที่จะเก็บรวบรวม เนื่องจากผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ มักไม่ค่อยยอมเปิดเผย หรือไม่รู้เนื้อรู้ตัว ว่าเป็นโรคดังกล่าว

ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้ คือ

ไม่มีความสนใจอยากจะมีความ สัมพันธ์ทางเพศกับคู่รักของตัวเอง
ไม่มีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตัวเอง
ความรู้สึกและการตอบสนองระหว่างกิจกรรมการร่วมเพศลดลงไป จนถึงขั้น ไม่มีเลย
เมื่อมีการร่วมเพศ บางคนมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อช่องคลอด จนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
สูติ-นรีแพทย์กล่าวอีกว่า หากผู้หญิงคนไหนเริ่มมีอาการดังกล่าวนี้ พึงระลึกได้เลยว่า เซ็กซ์ของคุณ เริ่มหรือได้เสื่อมแล้ว ถ้าคุณเป็นคนโสด ก็คงไม่เป็นไรหรอก แต่หากคุณมีครอบครัว รับรองว่าชีวิตคู่ของคุณ อาจพบกับ ปัญหา ตามมาได้
แม้ชีวิตคู่บางราย ผู้หญิงจะบอกว่าเรื่องเพศ ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อมีลูกกับสามี ก็คือจบ ต่อไปก็ปล่อยให้สามี ไปหาเศษหาเลยได้ แต่วิธีนี้คงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะวันใดวันหนึ่ง สามีของคุณ อาจนำโรคร้าย จากการไปเที่ยวสำส่อนนอกบ้าน มาติดต่อคุณได้

"บนพื้นฐานของความจริงแล้ว เซ็กซ์หรือกามารมณ์ เป็นธรรมชาติ หรือส่วนหนึ่ง ของมนุษย์ มีคนกล่าวว่า กามารมณ์ ถือเป็นสีสันของชีวิตคู่ หรือบางคนบอกว่า กามารมณ์ เป็นพื้นฐานของชีวิตคู่ ก็คงไม่ผิดนัก " น.พ.พันธ์ศักดิ์ กล่าวถึงพื้นฐาน ความต้องการ ของมนุษย์

จากการวิจัยพบว่าเซ็กซ์เป็นทางออกที่สั้นและเรียบง่ายที่สุด ที่คนสองคน จะพึงหากันได้ และจากการวิจัยเรื่องนี้ยังบอกอีกว่า ถ้ามนุษย์มีการสัมผัสหรือมีเซ็กซ์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 25 นาที สุขภาพจิตจะดี ส่งผลให้ชีวิตยืนยาว

สาเหตุของโรคเซ็กซ์เสื่อมในผู้หญิง นพ. พันธ์ศักดิ์ อธิบายว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ ที่เป็นโรคเซ็กซ์เสื่อม แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ กลุ่มผู้หญิงหัวโบราณ ค่อนข้างจัดเป็นพวกอนุรักษนิยม ถูกสั่งสอนอย่างเข้มงวดและเคร่ง ครัดในช่วงวัยเด็กว่า เรื่องกามารมณ์ เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องไม่ดี เรื่องของเซ็กซ์เป็นเรื่องน่ารังเกียจ
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ถูกอบรมเลี้ยงดู แบบไม่ได้ให้ความรู้ เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง แก่เด็ก เมื่อเด็กแสดงออกถึงอาการอยากรับรู้เรื่องเพศ พ่อและแม่จะแสดงอาการก้าวร้าว ดุด่าเด็ก ทำให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ จะไม่มีความสนใจ เรื่องเพศศึกษา
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มผู้หญิงที่โดนกระทำทารุณทางเพศในช่วงวัยเด็ก เช่น โดนข่มขืน ทำรุนแรงกับอวัยวะเพศ ทำให้จิตใต้สำนึกมาหลอกหลอนตลอดเวลา ทำให้เมื่อโตขึ้น เกิดไม่พึงพอใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ หรือทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะมีโรคทางจิต ตื่นตระหนกตกใจอยู่เสมอ
กลุ่มที่สี่ คือกลุ่มผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายแล้วโดนทอดทิ้ง หรือโดนผู้ชายทำให้เสียใจ ส่งผลให้จิตใต้สำนึกจะเกลียดผู้ชาย ไม่สนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ รู้สึกเย็นชาในเรื่องเซ็กซ์
กลุ่มสุดท้าย กลุ่มผู้หญิงในวัยทองหรือวัยใกล้หมดประจำเดือน ผู้หญิงวัยนี้ จะเริ่มไม่มีฮอร์โมนทางเพศ ทำให้ความต้องการทางเพศลดน้อยลง และบางรายอาจจะไม่ความต้องการเลย
"ผู้หญิงบางคนโดนข่มขืน ทำให้ทุกครั้งมีเพศสัมพันธ์จะมีโรคทางจิต ฝังใจอยู่กับ เหตุการณ์นั้น บางรายตื่นตระหนก ตกใจ กับความเลวร้ายครั้งนั้น อยู่เสมอ บางรายประสบการณ์ครั้งแรกกับการมีเพศสัมพันธ์เลวร้ายมาก ปัญหาที่ผู้หญิงเหล่านี้ประสบ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นโรคเซ็กซ์ เสื่อมได้" น.พ.พันธ์ศักดิ์ ยกตัวอย่าง ถึงแรงกดดันทางอารมณ์
ทางออกและทางรักษาของโรคเซ็กซ์เสื่อมในผู้หญิง น.พ.พันธ์ศักดิ์ อธิบายอีกว่า เมื่อโรคเซ็กซ์เสื่อมของผู้หญิง เกิดขึ้นจากจิตและทางอารมณ์เป็นหลัก ซึ่งผู้หญิงหลายคนมักจะเผชิญ กับแรงกดดันทางเพศ ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเซ็กซ์เสื่อม

ทางแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับผู้เป็นโรคนี้คือ
ประการแรก การติดต่อกับจิตแพทย์ ที่มีความรู้ความชำนาญ ในการให้คำปรึกษา เกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น โร งพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลรามาฯ ผู้เป็นโรคนี้สามารถเข้าไปปรึกษาโรคดังกล่าวได้ ส่วนผู้หญิงวัยทอง อาจรักษาและปรึกษากับแพทย์ทั่วๆ ไป ซึ่งแพทย์อาจจะให้ฮอร์โมนเสริมให้กับร่างกาย

ประการที่สอง ผู้ชายมีส่วนช่วยบำบัดโรคนี้ได้ หากผู้หญิงที่มีอาการเซ็กซ์เสื่อม สามารถเลือกคู่ครองที่เข้าใจ และมีความรักแท้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถปลุกเร้า ให้โรคนี้หายได้ไม่มากก็น้อย

Business

  • การซื้อของผู้บริโภค - พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค หมายถึง พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคขึ้นสุดท้ายที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกินเองใช้เอง หรือเพื่อกินหรือใช้ภายในครัวเรือน ผู้บ...
    3 ปีที่ผ่านมา
  • แนวข้อสอบพระราชบัญญัติปิโตรเลียม - 1. พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้ไว้ ณ วันใด ก. ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ค. ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ข. ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ง....
    7 ปีที่ผ่านมา

Blog M