สาเหตุของโรคเบาหวาน ที่ทราบกันคือกรรมพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ กรรมพันธุ์หมายถึง ถ้ามีพี่น้อง พ่อแม่ (ญาติสายตรง) เป็น ก็จะมีโอกาสหรือความเสี่ยง ในการเกิดโรคเบาหวาน ได้มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติครอบครัว แต่ไม่ใช่เป็นหมดทุกคน 100 % และในทางกลับกัน คนที่ไม่มีพ่อแม่พี่น้องเป็น ก็อาจจะเป็นคนแรกเลยก็ได้ คือ ถือเป็นต้นตระกูลเบาหวานก็ได้ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ก็สำคัญ เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย กินอาหารแป้ง, น้ำตาลมากเกินไป ส่วนสาเหตุหนึ่งที่พบคือ เบาหวานจากการตั้งครรภ์, เบาหวานจากยา เช่น ยาสเตียรอยด์ ที่ชอบใช้แบบผิดๆ รักษา โรคปวดข้อ, ปวดกระดูก, ตับอ่อนอักเสบ โดยเฉพาะที่ชอบดื่มเหล้ามากๆ จนเป็นตับอ่อนอักเสบ สุดท้ายก็เบาหวาน จากการขาดสารอาหาร (ทุพโภชนาการ)
การวินิจฉัย การดูแลรักษาด้วยยา การออกกำลังกาย และอื่นๆ ที่เป็นโรคแทรกซ้อน ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน นอกจากจะจำเป็นต่อผู้ป่วยเองแล้ว ยังจำเป็นต่อคนรอบข้าง, เช่นคนในครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน (ในกรณีที่เด็กป่วย ควรจะมีความรู้บ้าง) เพราะโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน อาจจะมีอาการเฉียบพลันซึ่งต้องการ การรักษาอย่างเร่งดวน มิฉะนั้น อาจจะมีอันตรายถึงชีวิต โรคแทรกซ้อนที่ว่า ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไป การติดเชื้อรุนแรงเป็นต้น
เบาหวาน แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบพึ่งอินซูลิน คือต้องใช้อินซูลินในกาฉีดรักษา (ตั้งแต่แรก) ซึ่งมักจะพบในคนอายุน้อย ต่างกับประเภทที่ 2 ซึ่งมักพบในคนอายุมาก ประเภทนี้ใช้ยาเม็ดลดน้ำตาลแบบกินเข้าปากได้ จนถึงปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า การรักษาเบาหวานที่สมบูรณ์แบบที่สุด คือ การควบคุมน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ก่อนอื่น เมื่อเราสงสัยว่าเป็นเบาหวาน คือ มีอาการที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ กินน้ำบ่อย (เพราะคอแห้ง) ปัสสาวะบ่อยและครั้งละมากๆ หิวบ่อย (ส่วนน้อยจะเบื่ออาหาร ยกเว้นตอนที่โทรมมากๆ แล้ว) ผอมลงเรื่อยๆ เพลีย โหย หรืออาการอื่นๆ เช่น ตามัน มึนตามปลายมือปลายขา, กล้ามเนื้ออ่อนแรง แผลหายช้า ซึ่งถ้ามีอาการที่กล่าวหลังๆ นี้ มักจะเป็นเบาหวานมานาน จนเกิดอาการแทรกซ้อนแล้ว บางคนจะเจอเบาหวาน เมื่อมารักษาโรคอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับเบาหวาน เช่น โรคหัวใจ. โรคอัมพาตจากสมองตีบ, เส้นเลือดที่ขาตีบ, ตามองไม่เห็น จากเบาหวานขึ้นตา หรือต้อกระจก, หรือติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น วัณโรค ปอด เป็นต้น และคนไข้บางส่วน มักเจอว่าตนเองเป็นเบาหวาน เมื่อเตรียมตัวผ่าตัด, ตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัย
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด แล้วก็จะขอเจาะเลือด เป็นอย่างน้อย หรือตรวจเพิ่มอื่นๆ ก็แล้วแต่อาการจะพาไป การตรวจของแพทย์เพื่อจะทราบว่า
1.
| เป็นเบาหวานหรือไม่ รุนแรงขนาดไหน | |
2.
| มีโรคแทรกซ้อนหรือโรคที่เกิดร่วมกันหรือไม่ เช่น ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, ไตวาย, ความเสื่อมของระบบประสาท, เส้นหัวใจ หรือเส้นเลือดขาตีบ, มีแผลที่เท้าหรือไม่, สมรรถภาพการมองเห็น เป็นต้น |
การตรวจเลือด ส่วนใหญ่จะเจาะหลังอาหาร อย่างน้อย 6 ชม. ดังนั้น ถ้าท่านต้องการตรวจเลือดเบาหวาน, ไขมัน ดีที่สุดคือ ตอนเช้า อย่าเพิ่งทานข้าวเช้า ห้ามกินอาหารหลัง 6 ทุ่ม จิบน้ำบริสุทธิ์แก้คอแห้งได้บ้างเล็กน้อย ความจริงถ้าจะดูไขมันให้ละเอียด อด 12 ชม. ได้จะดีมาก คือกินอาหาสัก 5 – 6 โมงเย็น จากนั้นอด (ลูกเดียว) จนถึงเช้า
เมื่อแพทย์แจ้งท่านว่าเป็นเบาหวานแล้ว (บางครั้งถ้าไม่มีอาการอะไร แพทย์จะขอตรวจเลือดซ้ำ) อย่างแรกสุด แพทย์จะอธิบายให้ท่านทราบว่า เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง เป็นแล้วไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมให้ใกล้เคียงกับปกติได้ ถ้าท่านปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำได้ดี ผลบุญก็จะเกิดแก่ท่าน ก็จะสามารถดำรงชีวิตได้ปกติสุข เฉกเช่นคนที่ไม่เป็นเบาหวานทั่วไป เมื่อได้ฟังดังนั้น ท่านควร (ต้อง) ยอมรับว่า อะไรมันจะเกิดมันก็ต้องเกิด และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องยอมรับ สามารถอยู่ร่วมกับ โรคเบาหวานอย่างมีความสุข
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น