Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

กล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อ (Muscle; มาจากภาษาละติน musculus "หนูตัวเล็ก"  เป็นเนื้อเยื่อที่หดตัวได้ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงมาจากเมโซเดิร์ม (mesoderm) ของชั้นเนื้อเยื่อในตัวอ่อน และเป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกาย แบ่งออกเป็นกล้ามเนื้อโครงร่าง (skeletal muscle) , กล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle) , และกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) ] ทำหน้าที่หดตัวเพื่อให้เกิดแรงและทำให้เกิดการเคลื่อนที่ (motion) รวมถึงการเคลื่อนที่และการหดตัวของอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อจำนวนมากหดตัวได้นอกอำนาจจิตใจ และจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การบีบตัวของหัวใจ หรือการบีบรูด (peristalsis) ทำให้เกิดการผลักดันอาหารเข้าไปภายในทางเดินอาหาร การหดตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจมีประโยชน์ในการเคลื่อนที่ของร่างกาย และสามารถควบคุมการหดตัวได้ เช่นการกลอกตา หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อควอดริเซ็บ (quadriceps muscle) ที่ต้นขา
ใยกล้ามเนื้อ (muscle fiber) ที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภทคือ กล้ามเนื้อ fast twitch และกล้ามเนื้อ slow twitch กล้ามเนื้อ slow twitch สามารถหดตัวได้เป็นระยะเวลานานแต่ให้แรงน้อย ในขณะที่กล้ามเนื้อ fast twitch สามารถหดตัวได้รวดเร็วและให้แรงมาก แต่ล้าได้ง่าย

กล้ามเนื้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
  1. กล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ (Voluntary) สามารถควบคุมได้ ยึดติดกับกระดูก (bone) โดยเอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) ทำหน้าที่เคลื่อนไหวโครงกระดูกเพื่อการเคลื่อนที่ของร่างกายและเพื่อรักษาท่าทาง (posture) ของร่างกาย การควบคุมการคงท่าทางของร่างกายอาศัยรีเฟล็กซ์ (reflex) ที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ เมื่อขยายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อลายดูจะพบว่า มีลักษณะเป็นลาย โดยทั่วไปร่างกายผู้ชายประกอบด้วยกล้ามเนื้อโครงร่าง 40-50% ส่วนผู้หญิงจะประกอบด้วยกล้ามเนื้อโครงร่าง 30-40%
  2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary) ไม่สามารถควบคุมได้ พบดาดอยู่ที่ผนังของอวัยวะภายใน (Viseral Organ) เช่น หลอดอาหาร (esophagus) , กระเพาะอาหาร (stomach) , ลำไส้ (intestine) , หลอดลม (bronchi) , มดลูก (uterus) , ท่อปัสสาวะ (urethra) , กระเพาะปัสสาวะ (bladder) , และหลอดเลือด (blood vessel)
  3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกอำนาจจิตใจเช่นกัน แต่เป็นกล้ามเนื้อชนิดพิเศษที่พบเฉพาะในหัวใจ เป็นกล้ามเนื้อที่บีบตัวให้หัวใจเต้น
กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อโครงร่างจัดเป็นกล้ามเนื้อลาย (striated muscle) เพราะว่ามีซาร์โคเมียร์ (sarcomere) และเส้นใยจัดเรียงอยู่ในมัดกล้ามเนื้อ (bundle) อย่างเป็นระเบียบซึ่งไม่พบในกล้ามเนื้อเรียบ ใยกล้ามเนื้อโครงร่างจะเรียงตัวขนานกันอย่างเป็นระเบียบอยู่ในมัดกล้ามเนื้อ แต่กล้ามเนื้อหัวใจมีการแตกสาขา (branching) ในมุมที่แตกต่างกัน กล้ามเนื้อลายสามารถหดตัวและคลายตัวได้รวดเร็ว (contracts and relaxes in short, intense bursts) ในขณะที่กล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้น้อยและช้า (sustains longer or even near-permanent contractions)
กล้ามเนื้อโครงร่างแบ่งออกได้เป็นประเภทย่อยๆ หลายประเภท
  • Type I, slow oxidative, slow twitch, หรือ "red" muscle มีหลอดเลือดฝอย (capillary) จำนวนมาก ภายในเซลล์ประกอบด้วยไมโทคอนเดรีย (mitochondria) และไมโอโกลบิน (myoglobin) ทำให้กล้ามเนื้อมีสีแดง กล้ามเนื้อนี้สามารถขนส่งออกซิเจนได้มากและมีเมตาบอลิซึมแบบใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism)
  • Type II หรือ fast twitch muscle แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามความเร็วในการหดตัว:[3]
    • Type IIa คล้ายกับกล้ามเนื้อ slow twitch คือมีการหายใจแบบใช้ออกซิเจน มีไมโทคอนเดรียจำนวนมากและหลอดเลือดฝอย ทำให้มีสีแดง
    • Type IIx (หรือเรียกอีกอย่างว่า type IId) มีไมโทคอนเดรียและไมโอโกลบินอยู่หนาแน่นน้อยกว่า เป็นกล้ามเนื้อที่หดตัวเร็วที่สุด (the fastest muscle) ในร่างกายมนุษย์ สามารถหดตัวได้รวดเร็วกว่าและแรงมากกว่ากล้ามเนื้อที่หายใจแบบใช้ออกซิเจน (oxidative muscle) แต่หดตัวได้ไม่นาน มีการหายใจโดยไม่ใช้ออกซิเจนอย่างรวดเร็ว (anaerobic burst) ก่อนที่กล้ามเนื้อจะหดตัว ซึ่งทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการเกิดกรดแลกติก (lactic acid) ในตำราบางเล่มอาจเรียกกล้ามเนื้อชนิดนี้ในมนุษย์ว่า type IIB[4]
    • Type IIb เป็นกล้ามเนื้อที่หายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic) ใช้พลังงานจากกระบวนการไกลโคไลซิส (glycolysis) เรียกอีกอย่างว่า "white" muscle มีไมโทคอนเดรียและไมโอโกลบินเบาบางกว่า กล้ามเนื้อประเภทนี้พบเป็นกล้ามเนื้อ fast twitch ในสัตว์ขนาดเล็กเช่นสัตว์ฟันแทะ (rodent) ทำให้กล้ามเนื้อของสัตว์เหล่านั้นมีสีค่อนข้างซีดจาง

เกลือแร่

เกลือแร่ (อังกฤษ: Dietary mineral) มีบทบาทและหน้าที่สำคัญใน ร่างกายหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย เป็นองค์ประกอบของ เซลล์เนื้อเยื่อและเส้นประสาท[1] เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ ฮอร์โมน และวิตามิน นอกจากนี้ เกลือแร่ยังทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในทุกอวัยวะ จากความสำคัญและหน้าที่ ดังกล่าวนั้น จะเห็นว่า เกลือแร่เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญยิ่งต่อร่างกาย ซึ่งร่างกายต้องได้ รับเพียงพอ ร่างกายจึงจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และแข็งแรง อาหารทั่วไปที่เป็นแหล่งของเกลือแร่ทั้งชนิดหลักและชนิดปริมาณน้อยแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของอาหาร ตัวอย่าง เกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายประกอบด้วย แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง และโพแทสเซียม
ร่างกายมีเกลือแร่ 4% ของน้ำหนักร่างกายทั้งหมด เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการมีดังต่อไปนี้
  • แคลเซียม เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และหัวใจ เป็นธาตุที่จำเป็นในการแข็งตัวของเลือด มีอยู่มากในนม และเนื้อสัตว์ประเภทที่กินได้ทั้งกระดูก เช่น กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และทารกที่กำลังเจริญเติบโตไปจนถึงวัยรุ่นควรกินแคลเซียมมากกว่าปกติ
  • เหล็ก เป็นตัวนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงในส่วนที่เรียกว่า ฮีโมโกลบินซึ่งเป็นตัวพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และพาคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปยังปอดเพื่อขับถ่ายออกในรูปการหายใจ ในประเทศร้อน เมื่อเหงื่อออกมาก อาจมีการสูญเสียธาตุเหล็กออกไปกับเหงื่อได้ อาหารที่มีเหล็กมากได้แก่ เครื่องในสัตว์ ถั่วเมล็ด ผักใบเขียวบางชนิด
  • ไอโอดีน ส่วนใหญ่ไอโอดีนจะอยู่ในต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ที่คอส่วนล่าง ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อ มีหน้าที่สังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอกซิน ถ้าหากร่างกายมีการขาดไอโอดีนตั้งแต่เด็ก จะทำให้เป็นโรคเอ๋อ ร่างกายแคระแกร็น และเป็นโรคคอพอก อาหารที่มีไอโอดีนได้แก่ อาหารทะเล และเกลืออนามัย วัยรุ่น หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตรต้องการไอโอดีนสูง
  • แมกนีเซียม มีมากในอาหารหลายชนิด เช่น ถั่ว ข้าวแดง ข้าววีท ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ผักใบเขียว(หากหุงต้มนานเกินไปจะทำให้แมกนีเซียมหลุดออกไปหมด) แมกนีเซียมมีประโยชน์ดังนี้
ทำงานร่วมกับแคลเซียม หากร่างกายขาดแมกนีเซียม ฟันจะไม่แข็งแรง
การที่ร่างกายมีแมกนีเซียมต่ำ จะทำให้ความดันโลหิตสูง และเป็นโรคหัวใจ
ผู้ใหญ่จะต้องการแมกนีเซียมประมาณ 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ซีลีเนียม เป็นธาตุที่มีสมบัติเหมือนกำมะถัน ร่างกายต้องการซีลีเนียมน้อยมาก หากได้รับมากเกินไปจะเป็นอันตราย อาหารที่มีซีลีเนียมมาก ได้แก่ ข้าวสาลี ตับ ไต ปลาทูน่า ประโยชน์ของซีลีเนียมมีดังนี้
มีการทำงานสัมพันธ์กันกับวิตามินอี ซึ่งมีผลในการป้องกันโรคหัวใจ
เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ชนิดหนึ่งชื่อว่า ซีลีโนโปรตีน เอนไซม์นี้ป้องกันไม่ให้สารพิษชื่อว่า ฟรีแรดิกัล เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์
ช่วยลดการแพ้เคมีภัณฑ์ต่างๆได้
ช่วยลดการแพ้มลพิษจากอากาศ
ช่วยป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหาร
  • สังกะสี เป็นธาตุที่เราต้องรับเป็นประจำในปริมาณที่น้อยมาก เพราะถ้ามากเกินไปก็จะก่อให้เกิดอันตราย อาหารที่มีสังกะสีมาก ได้แก่ ตับ ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่ว หอยนางรม ประโยชน์ของสังกะสีมีดังนี้
หากกินอาหารที่มีสังกะสีในปริมาณต่ำมาก จะทำให้เจริญเติบโตช้า ขนร่วง
มีความสำคัญในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน
เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์อินซูลิน ซึ่งช่วยในการเผาผลาญน้ำตาลที่เรากินเข้าไป ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ร่างกายจะมีสังกะสีต่ำกว่าคนปกติ
หากขาดจะเป็นโรคตาบอดสี (เรตินาในตาของคนจะมีสังกะสีอยู่ในปริมาณสูง)
ช่วยเพิ่มให้รู้สึกว่าอาหารหวานยิ่งขึ้น ทำให้คนกินหวานน้อยลง
บำรุงรักษาผิวหนัง และสิวฝ้า
  • โครเมียม ร่างกายต้องการน้อยมาก ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะเกิดอันตราย อาหารที่มีโครเมียมมาก ได้แก่ ไข่แดง ตับ หอย มันเทศ ยีสต์หมักเหล้า ประโยชน์ของโครเมียมมีดังนี้
ช่วยในการเผาผลาญน้ำตาล
ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน[2]

วิตามินซี

วิตามินซี (อังกฤษ: vitamin C) หรือ กรดแอล-แอสคอร์บิก (อังกฤษ: L-ascorbic acid) หรือ แอล-แอสคอร์เบต (อังกฤษ: L-ascorbate) เป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ร่างกายไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานเข้าไป วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิชีวิตได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถป้องกันและรักษาการอักเสบอันเนื่องมาจากแบคทีเรียและไวรัสได้
วิตามินซี เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัย ศตวรรษที่ 18 มีการสังเกตว่าพวกทหารเรือที่มีการรอนแรมออกเดินเรือไปในทะเลเป็นเวลานานๆ ซึ่งมักจะขาดแคลนพวกผักสดผลไม้สด จะป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด และสุขภาพไม่ค่อยดี มีอาการอ่อนเพลีย อยู่บ่อยๆ แต่ก็มีคนสังเกตเห็นว่าจะไม่พบอาการดังกล่าวในทหารเรือที่รับประทานมะนาว เป็นประจำ
และเมื่อต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น ในปี ค.ศ. 1982 ก็สามารถหาสารอาหารสำคัญ ที่เป็นต้นเหตุของโรคดังกล่าวได้ว่าสารที่พวกทหารเรือขาดไปคือ “กรดแอสคอร์บิค (Ascorbic acid)” ซึ่งมันมีฤทธิ์สามารถช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ ในปัจจุบัน กรดแอสคอร์บิค ก็ถูกรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ “วิตามินซี” และมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลถึง 2ครั้ง และมีอายุยืนยาวมากกว่า 90 ปีแม้จะป่วยเป็นโรค มะเร็ง มายาวนานถึง 20 ปีก็ตามคือ Dr.Linus Pauling ชาวเมืองพอรต์แลนด์ ได้เคยพูดไว้ว่า เหตุที่เขาสามารถมีสุขภาพดีและสามารถชะลอการลุกลามของโรคมะเร็ง ในตัวได้นานกว่า 20 ปี ก็เนื่องจาก วิตามิน และ เกลือแร่ ที่เขารับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินซี ซึ่งหลังจากที่เขารับประทานขนาดสูงทุกวัน เขาก็ไม่เคยเป็นหวัดอีกเลย Dr.Linus Pauling เริ่มรับประทาน วิตามินซี ชนิดเม็ดตั้งแต่อายุ 40 ปี และเพิ่มขนาดสูงถึง 18,000 มิลลิกรัม เมื่อรู้ว่าตนเองเป็น มะเร็ง ตั้งแต่อายุได้ 64 ปี เขายืนยันว่ามันช่วยให้ มะเร็ง ในร่างกายสงบลง

อันตรายจากการขาดวิตามินซี

  • ผู้ที่ขาดวิตามินซีมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดตามข้อต่อของร่างกาย เลือดออกตามไรฟัน เจ็บกระดูก
  • แผลหายช้า เนื่องจากวิตามินซีทำหน้าที่ต่อต้านการอักเสบและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอจะทำให้เส้นเลือดในร่างกายอ่อนแอ และทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหายช้ากว่าปกติ
  • เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย คุณสมบัติของวิตามินซี คือ เป็นตัวต่อต้านสารก่อมะเร็งและช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ถ้าร่างกายขาดวิตามินซีจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลงและทำให้ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ง่าย
  • เป็นโรคลักปิดลักเปิด ในกรณีของเด็กหรือผู้สูงอายุที่ได้รับวิตามินซีน้อยกว่าวันละ 10 มิลลิกรัม อาจทำให้เป็นโรคลักปิดลักเปิดได้ หากร่างกายขาดวิตามินซีมากเกินปกติอาจทำให้มีลูกยาก เป็นโรคโลหิตจางและมีภาวะความผิดปกติทางจิตได้
  • สาเหตุไข้หวัด และลักษณะของโรค

    เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส มีอยู่ร่วม 200 ชนิดด้วยกัน การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วคนเราก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อได้โดยการสัมผัสมือ กล่าวคือ เชื้อหวัดติดที่มือผู้ป่วยเมื่อสัมผัสถูกมือของคนอื่นเชื้อหวัดก็จะติดมือของคนๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายของคนๆ นั้นจนกลายเป็นไข้หวัดได้
    โรคหวัดอาจเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิดด้วยกัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัสประเภทคอรีซา (Coryza viruses) ได้แก่ไรโนไวรัส (Rhinovirus) และโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ที่พบมากที่สุด เชื้อไวรัสยังรวมไปถึงเอคโคไวรัส (Echovirus), อะดิโนไวรัส (Adenovirus), พาราไมโซไวรัส (Paramixovirus), คอกซ์แซกคีไวรัส (Coxsackievirus) รวมถึงไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดอีกหลายร้อยประเภทที่ถูกค้นพบ จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยไวรัสเหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ (ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า วิธีการรักษาโรคนี้ยังไม่น่าจะถูกค้นพบในเร็ววัน) โดยที่บริเวณกล่องเสียง (คอหอย) จะเป็นเป็นศูนย์รวมของเชื้อไวรัส โดยสาเหตุที่เชื้อไวรัสชอบไปสะสมตัวกันที่กล่องเสียงก็เนื่องมาจากอุณหภูมิของกล่องเสียงที่ต่ำกว่าบริเวณลำคอ และเป็นส่วนที่มีเซลล์ตัวกระตุ้นมาก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไวรัสชอบ

    โรคหวัดสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านทางละอองน้ำมูกและน้ำลายที่มาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย โดยละอองเหล่านี้สามารถทำให้คนเป็นหวัดได้ผ่านจากการสูดละอองเหล่านี้เข้าไปโดยบังเอิญ หรือผ่านการสัมผัสจากมือต่อมือกับผู้ป่วย และจากการสัมผัสวัตถุที่ผู้ป่วยเคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งจะติดต่อผู้ที่ไม่เป็นโรคได้ผ่านทางส่วนตาและจมูก เมื่อมือที่เปื้อนเชื้ออยู่สัมผัสไปโดน
    ไวรัสนี้อาศัยการไอและจามของผู้ป่วยเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่น ก่อนที่มันจะถูกระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสกัดกั้นไว้ได้ โดยการจามจะขับไวรัสที่เกาะตัวกันอยู่หนาแน่นในละอองน้ำลายหรือน้ำมูกมากกว่าการไอ โดยละอองเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ ยกเว้นที่ร่มที่แสงแดดส่องถึง และมีอัตราการตกสู่พื้นที่ช้ามาก ซึ่งกินเวลาเป็นชั่วโมงๆ กว่าที่ละอองจะตกถึงพื้น รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อเมื่อนิวเคลียสของละอองระเหย และทิ้งเชื้อที่เล็กกว่ามากและไม่สามารถมองเห็นได้เลย นั่นก็คือนิวเคลียสของละอองเองไว้ในอากาศ กลุ่มละอองน้ำลายหรือน้ำมูกจากการจามหรือไออย่างรุนแรง หรือจากการสัมผัสมือที่เปื้อนเชื้อ เชื้อไวรัสจะเกาะตัวแน่นบนพื้นผิวใดๆ ที่มันอยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ กระนั้น ไวรัสเกาะติดอยู่ได้น้อยกว่าบนพื้นผิวที่มีรูโปร่งเช่นแผ่นไม้หรือกระดาษชำระ ซึ่งต่างจากวัตถุทึบตันเช่นราวเหล็กที่เชื้อสามารถเกาะติดได้นานกว่า โดยผู้ป่วยนั้นจะมีโอกาสเป็นพาหะได้มากที่สุดในช่วงสามวันแรกของการเป็นโรค แต่การติดต่อของโรคนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากผู้ที่แสดงอาการ เนื่องจากมีไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดอยู่หลายชนิดเหมือนกัน ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ยังคงมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดอยู่ได้ในน้ำมูก อาจเป็นเพราะว่าไวรัสมีจำนวนน้อยเกินไปกว่าที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการได้

    ไวรัสเชื้อหวัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการเข้าไปในเซลล์ที่หุ้มกล่องเสียงอยู่ จากนั้นมันจะทำการแพร่พันธุ์ตนเองแบบทวีคูณ ทางเข้าหลักของไวรัสเหล่านี้คือผ่านทางตาและจมูก ผ่านทางท่อนาโซไครมัล (Nasocrymal duct) แล้วจึงเข้าไปในกล่องเสียง โดยปากนั้นไม่ใช่ทางเข้าหลักของเชื้อ และเชื้อมักจะไม่ติดต่อผ่านการจูบกัน...

    โรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน

    โรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน (Acute nasopharyngitis / Common cold / Upper respiatory tract infection / URI) เรียกโดยทั่วไปว่าโรคหวัด หรือไข้หวัด (Common cold) เป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวรัส ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (ได้แก่ จมูกและคอ) อาการของโรคประกอบด้วยการจาม, อาการคัดจมูก, เยื่อจมูกที่จะบวมและแดง, และยังมีการหลั่งน้ำมูกมากกว่าปกติจนไหลออกทางจมูก ถ้าเชื้อไวรัสติดเชื้อไปที่จมูก แต่ถ้าติดเชื้อที่คอ จะมีอาการเจ็บคอ คอแหบแห้ง หรือมีเสมหะสะสมอยู่บริเวณลำคอ โดยการติดเชื้ออาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองบริเวณ นอกจากนี้ผู้เป็นโรคจะมีอาการไอ, ปวดศีรษะ และเหนื่อยง่าย ไข้หวัดมักจะมีระยะโรคอยู่ที่ประมาณสามถึงห้าวัน อาจร่วมด้วยอาการไอที่สามารถต่อเนื่องไปได้ถึงสามสัปดาห์
    โรคหวัดเป็นที่พบบ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง (โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ อาจเป็นเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง) โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ง่ายที่สุดในบรรดาโรคที่มนุษย์เคยประสบมาทั้งหลาย โดยเฉลี่ยแล้วทุกคนจะติดเชื้อหนึ่งครั้งต่อปี ทำให้ต้องสูญเสียแรงงาน เวลาเรียนและสิ้นเปลืองเงินทองไปปีละมากๆ
    เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลง โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายดายการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบมากในโรงเรียน โรงงาน และที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ โอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่ไปได้มีมากที่สุดคือระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ซึ่งอาจเกิดได้จากความหนาแน่นของผู้คนในโรงเรียน และการที่เชื้อไวรัสจะมีประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัวมากเป็นพิเศษ
    โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝนฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนฤดูร้อนจะน้อย
    ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด (เชื้อหวัด) มีอยู่เกือบ 200 ชนิด ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด กระนั้น ผู้ที่ติดโรคนี้มากกว่าสามครั้งต่อปีก็ไม่ได้น่าแปลกอะไรในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม
    โรคหวัดอยู่โรคประเภทติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) จะเป็นโรคประเภทเดียวกัยโรคหวัด แต่ความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสนี้ รวมถึงอาการที่เพิ่มขึ้นได้แก่การที่เกิดไข้ขึ้นสูง และการปวดเมื่อยเนื้อตัวและกล้ามเนื้อนั้นรุนแรงกว่ามาก ในขณะที่โรคหวัดมีอัตราความเสี่ยงต่อชีวิตต่ำ แต่อาการแทรกซ้อนอย่างเช่นปอดบวมก็อาจทำให้เกิดการเสี่ยงชีวิตขึ้นได้

    Business

    Blog M