Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความหมายของสุขภาพกายและสุขภาพจิต

สุขภาพกาย หมายถึง สภาวะของร่างกายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เจริญเติบโตอย่างปกติ ระบบต่างๆของร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ร่างกายมีความต้านทานโรคได้ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและความทุพพลภาพ

สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะของจิตใจที่มีความสดชื่น แจ่มใส สามารถควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงเป็นปกติ สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆได้ดี สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี และปราศจากความขัดแย้งหรือความสับสน ภายในจิตใจ

ความสำคัญของสุขภาพกายและสุขภาพจิต

สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกชีวิต การที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติก็คือ การทำให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ จิตใจมีความสุข ความพอใจ ความสมหวังทั้งตนเองและผู้อื่น ผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี จะปฏิบัติหน้าที่ประจำวันไม่ว่าเป็นการเรียนหรือการทำงานเป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพการที่เรารู้สึกว่า ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเรามีความปกติและสมบูรณ์ดี เราก็จะมีความสุข ในทางตรงข้าม ถ้าสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราผิดปกติหรือไมสมบูรณ์ เราก็จะมีความทุกข์ การรู้จักบำรุงรักษา และส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของทุกคน ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า การรู้จักดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิตนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขสมบูรณ์และมีคุณภาพที่ดี

ลักษณะของผู้มีภาวะสุขภาพกายที่ดี

1. สภาพร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรง
2. อวัยวะต่างๆทั้งภายในและภายนอกร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ
3. ร่างกาย ไม่ทุพพลภาพ
4. ความเจริญทางด้านร่างกายเป็นไปตามปกติ
5. ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

ลักษณะของผู้มีภาวะสุขภาพจิตที่ดี

1. มีอารมณ์มั่นคง และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี
2. มีความตั้งใจและกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่ย่อท้อเหนื่อยหน่ายหรือหมดหวังในชีวิต
3. มีความสดชื่น เบิกบาน แจ่มใส ไม่เครียด ไม่มีความวิตกกังวลใจจนเกินไปมีอารมณ์ขันบ้างตามสมควร
4. มีความรู้สึกต่อผู้อื่นในแง่ดี มองโลกในแง่ดี
5. รู้จักตนเองดีและมีความเข้าใจผู้อื่นดีเสมอ
6. มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างมีเหตุผล
7. สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ดี
8. กล้าเผชิญกับปัญหา และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
9. มีการแสดงออกอย่างเหมาะสม เมื่อมีความสะเทือนใจ
10. สามารถแสดงความยินดีต่อผู้อื่นอย่างจริงใจเมื่อประสบความสุข ความสมหวัง หรือความสำเร็จ


การส่งเสริมสุขภาพ เป็นมิติหนึ่งทางสุขภาพที่มีความสำคัญมากที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข ในการส่งเสริมสุขภาพจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของมิติสุขภาพ เข้าใจหลักและวิธีปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพได้อย่างถูกต้อง

ความหมายของสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ

สุขภาพ หมายถึง ภาวะแห่งความสมบูรณ์และความสมดุลของบุคคลทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม รวมทั้งสภาวะที่ปราศจากโรคและความพิการ และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างปกติสุข การมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันเป็นผลมาจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ขอบเขตของสุขภาพ จากความหมายของสุขภาพดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าคนและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันซึ่งนำไปสู่สภาวะสุขภาพ

การส่งเสริมสุขภาพเป็นมิติหนึ่งของสุขภาพ หมายถึง การกระทำของบุคคลเพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม

การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และสมรรถภาพทางกาย
การดูแลสุขภาพตนเอง เป็นกระบวนการที่บุคคลกระทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันการเกิดโรคและการเจ็บป่วย การรักษาอาการผิดปกติและการเจ็บป่วย

การดูแลสุขภาพตนเองแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. การดูแลสุขภาพตนเองในภาวะปกติ
2. การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อรู้สึกว่าผิดปกติ
3. การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยและได้รับการกำหนดว่าเป็นผู้ป่วย

ประโยชน์ของการส่งเสริมสุขภาพ

1. มีสุขภาพดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
2. โอกาสเกิดโรค การเจ็บป่วย และความผิดปกติต่างๆมีน้อยมาก
3. ไม่เสียเวลาในการเรียน เนื่องจากไม่เจ็บป่วย
4. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ
5. มีพัฒนาการทางด้านร่างกายเป็นไปตามปกติ

โรคอ้วน

ความอ้วน หมายถึง สภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยการสะสมของไขมันจนมีปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย

สาเหตุ

1. เกิดจากสาเหตุภายนอก เป็นสาเหตุใหญ่ที่เกิดโรคอ้วน เพราะตามใจปากมากเกินไป กินมากเกินความต้องการของร่างกาย อาหารที่กิน เนื้อ ไขมัน หรือแป้ง ของหวาน สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ถ้ามีมากเกินไปก็จะกลายเป็นไขมันพอกพูนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ออกกำลังกายน้อย กินแล้วนอนนิสัยในการรับประทาน คนที่มีนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี เรียกว่า กินจุบกินจิบไม่เป็นเวลา ขาดการออกกำลังกาย ถ้ารับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ แต่ได้ออกกำลังกายบ้างก็อาจทำให้อ้วนช้าลง แต่หลายคนไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย ไม่ช้าจะเกิดการสะสมเป็นไขมันในร่างกาย
2. มาจากสาเหตุภายใน พบได้จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อไทรอยด์ ทำให้มีไขมันตามบริเวณต้นแขน ต้นขา และหน้าท้อง

• จิตใจและอารมณ์ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่การกินอาหารขึ้นอยู่กับจิตใจและอารมณ์ เช่น กินดับความโกรธ ดับความคับแค้นใจ กลุ้มใจ กังวลใจ หรือดีใจ บุคคลเหล่านี้ จะรู้สึกว่าอาหารที่ทำให้จิตใจสงบ จึงหันมายึดเอาอาหารไว้เป็นที่พึ่งทางใจ ตรงกันขามกับบางคนกลุ้มใจเสียใจก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
• ความ ไม่สมดุลระหว่างความรู้สึกอิ่มกับความหิว เมื่อใดที่ความอยากเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นการกินก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถึงขั้นเรียกว่า กินจุ ในที่สุดก็อ้วนเอาๆ
3. เพราะกรรมพันธุ์ ซึ่งพบได้น้อย กรรมพันธุ์นี้พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าพ่อและแม่อ้วนทั้งสองคน ลูกจะมีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ 80 ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกมีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ 40
4. โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง
5. จากการกินยาบางชนิด ก็ส่งผลกระทบให้อ้วน ผู้ป่วยบางโรคได้รับฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ก็ทำให้อ้วนได้ และในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือกินยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนง่ายเช่นกัน
6. เพศ เพศหญิงนั้นมักอ้วนกว่าเพศชาย ก็ธรรมชาติเธอมักสรรหาจะกิน กิน และกิน ตลอดเวลา อีกทั้งตอนตั้งครรภ์ ก็ต้องกินมากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายและลูกน้อยในครรภ์ แต่หลังจากคลอดลูกแล้ว บางรายก็ลดน้ำหนักลงมาได้ แต่บางรายก็ลดไม่ได้ ผู้หญิงทำงานน้อย ออกกำลังน้อยกว่าชาย ผู้หญิงอ้วนมากกว่าผู้ชาย 4 : 1

การลดความอ้วนที่ถูกวิธี

การลดความอ้วนก็คล้ายกับการปฏิบัติในการรักษาโรคอื่นๆ เพราะในการลดความอ้วนนั้นต้องอาศัยหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมทั้งกำลังใจและเวลา การปฏิบัติทั่วๆไปในการลดน้ำหนัก คือ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย

โรคมะเร็ง

มะเร็ง เป็นเนื้องอกชนิดร้ายที่เนื้อมะเร็งมีการแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อปรกติที่ อยู่โดยรอบ เป็นเซลล์ร่างกายที่มีการแบ่งตัวไม่เป็นไปตามแบบแผนอยู่นอกเหนืออำนาจการควบ คุม สามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกายที่ห่างไกลออกไป และไม่ติดต่อกับก้อนมะเร็งเดิม มะเร็งสามารถเกิดจากเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้น ขน ผม เล็บที่งอกออกมาแล้วเท่านั้น

สาเหตุ เกิดจากการได้รับสารก่อมะเร็ง ซึ่งมาจากการได้รับควันบุหรี่ การเป็นแผลเรื้อรัง และยังคาดว่าเกิดจากยีนที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม

อาการ มะเร็งเป็นเนื้องอกที่เจริญอย่างรวดเร็วผิดปกติ อาการเริ่มแรกเป็นก้อนเนื้อ หรือเป็นแผลเรื้อรัง ต่อไปจึงกลายเป็นเนื้อร้าย

การรักษา ควรเริ่มตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันมีทั้งการรักษาทางยา รักษาด้วยการผ่าตัดและรักษาด้วยรังสี

โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร หมายถึง โรคที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคนี้แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือเป็นนานๆ ถ้าไม่รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุ สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะมีมากมาย แต่เชื่อกันว่าสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากมีกรดในกระเพาะอาหารมาก และเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง

1. สาเหตุที่กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น
2. มีการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร

อาการ

1. ปวดท้อง
2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน
3. อาการโรคแทรกซ้อน

การรักษา

1. กำจัดต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่ กินอาหารให้เป็นเวลา งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง งดดื่มน้ำชา กาแฟ งดสูบบุหรี่ งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด
2. การให้ยารักษา โดยกินยาอย่างถูกต้อง คือต้องกินยาให้สม่ำเสมอ กินยาให้ครบตามจำนวน และระยะเวลา ที่แพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย ดังนั้นภายหลังกินยา ถ้าอาการดีขึ้นห้ามหยุดยา ต้องกินยาต่อจนครบ และแพทย์แน่ใจว่าแผลหายแล้ว จึงจะ ลดยาหรือหยุดยาวได้
3. การผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบัน มียาที่รักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างดีจำนวนมากถ้าให้การรักษาที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดอาจทำให้เป็นกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อและการป้องกัน

โรคไม่ติดต่อเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ไม่ถูกต้อง และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่มีการติดต่อและแพร่กระจายของโรค แต่สามารถป้องกันได้หากรู้เข้าใจ และปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพได้ถูกต้อง เพราะจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดโรคได้

โรคไม่ติดต่อ หมายถึง โรคที่เกิดจากความผิดปกติหรือความเสื่อมโทรมของร่างกายและจิตใจ ไม่สามารถที่จะติดต่อไปหาบุคคลอื่นได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคนิ่ว โรคจิต และโรคประสาท โรคความดันเลือดต่างๆเป็นต้น

การดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ

1. หลีกเลี่ยงการเป็นโรคด้วยการปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรค เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสม
2. สร้างเสริมชีวิตครอบครัวให้มีความสุขด้วยการดูแลบ้านให้สะอาด เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ร่วมกันแก้ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจกัน การมีครอบครัวดีมีความอบอุ่น เป็นการรักษาสุขภาพจิตเบื้องต้น
3. ป้องกันการเป็นโรคจากการประกอบอาชีพ ด้วยการใช้เครื่องป้องกันตามระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานนั้นๆ เช่น ใส่หมวกนิรภัยเมื่อทำงานในเขตก่อสร้าง
4. ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนให้สะอาด สร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการป้องกันมลภาวะทั้งในน้ำและในอากาศ เช่น ทิ้งขยะถูกที่
5. หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น การใช้ยาผิด การสูบบุหรี่

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ที่หน้าต่อหลอดคอใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเยื่อคล้ายปีกผีเสื้ออยู่สองข้างทั้งซ้ายและขวา เชื่อมต่อด้วยเนื้อเยื่อบางๆที่เรียกว่า อิสท์มัส (Isthmus) ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน 2 ตัวเรียกง่ายๆว่า T4 และ T3 ซึ่งมีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การเผาผลาญอาหารในร่างกาย, การควบคุมอุณหภูมิ, การใช้ออกซิเจน, การทำงานของระบบประสาท, การสังเคราะห์โปรทีน, การเจริญเติบโต, เป็นต้น

โรคต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ในรายที่รุนแรงมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นโรคของต่อมไทรอยด์

1.มีก้อนที่คอ หรือคอโต หรือที่เรียกว่าคอพอก อาจจะโตทั่วๆทั้งต่อม หรือโตเป็นก้อนเดียวโดดๆ หรือโตเป็นก้อนหลายก้อน โตได้ทั้งซ้ายหรือขวา อาจไม่มีอาการอะไร มีแต่คอโตอย่างเดียว หรืออาจเจ็บที่ก้อนก็ได้

2.อาการผิดปกติจากหน้าที่ของต่อมผิดปกติ

◦สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ที่เรียกว่า ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีอาการหลายอย่าง เข่น ใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้นตกใจง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย หุนหันพลันแล่น เปลี่ยนความสนใจเร็ว หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น หรือน้ำหนักลดลง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ อุจจาระบ่อยขึ้นแต่ไม่เป็นแบบท้องเสีย ประจำเดือนน้อยลงหรือขาดหายไป บางรายตาโปนขึ้น เป็นต้น
◦ฮอร์โมนต่ำเกินไป มีอาการตรงกันข้ามกับต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น เฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร ความสนใจลดลง ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว ผมร่วง น้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุๆ เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ค่อยไหว ท้องผูก บางรายประจำเดือนมากกว่าปกติ เป็นต้น

อันตรายของโรคต่อมไทรอยด์คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว, วิกฤตต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นภาวะเป็นพิษอย่างรุนแรง และภาวะโคม่าจากต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคต่อมไทรอยด์ ลองสังเกตดูว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ หรือมีก้อนที่คอหรือไม่ ท่านไม่จำเป็นต้องรอให้มีครบทุกอย่าง อาจมีอาการเด่นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือน้ำหนักลดลงผิดปกติ ถ้าสงสัย อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบมาตรวจ และเช็คเลือดหรือทำอุลตร้าซาวนด์ดูว่า ท่านมีความผิดปกติจริงหรือไม่
โรคต่อมไทรอยด์ อย่าปล่อยไว้รีบรักษา
ดีขึ้นได้ดุจก่อนมา เพิ่มคุณค่าให้สุขสบาย

Business

Blog M