10 สถานการณ์คุกคามสุขภาพคนไทย - แนะสร้างครอบครัว-ชุมชนเข้มแข็งลดพฤติกรรมเสี่ยง
สสส.เปิด 10 สถานการณ์คุกคามสุขภาพคนไทย ทั้งหวัดใหญ่ 2009 เอดส์ โรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ เหล้า บุหรี่ นับวันยิ่งรุนแรง เหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ต้องจ่ายค่ารักษาสุขภาพ 134,587 ล้านบาท ชี้มาตรการที่ผ่านมายังอ่อน แนะเน้นสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว-ชุมชน ลดพฤติกรรมเสี่ยง สร้างระบบบริการเข้มแข็ง
นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของคนไทยที่พบมากที่สุดคือปัญหาด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิต จากการประเมินสถานการณ์ด้านสุขภาพคนไทยปี 2552 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า มาตรการและการควบคุมโรคต่างๆ ที่ผ่านมา อาจยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เพราะยังมีปัญหาสุขภาพกว่า 10 สถานการณ์ของโรคที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่
1.ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ จากรายงานผู้เสียชีวิตถึงวันที่ 19 ธ.ค.มีจำนวน 191 ราย
2.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ป้องกัน จากผลสำรวจใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
3.โรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งป่วย ซึ่งมีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลรวมกว่า 1.4 ล้านคน
4.อุบัติเหตุ ซึ่งในรอบปี 2552 เกิดอุบัติเหตุ 23,000 ครั้ง เสียชีวิต 3,000 ราย สร้างความสูญเสียกว่า 600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความประมาทในการขับขี่
5.ปัญหาสุขภาพจิต ในปี 2552 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตที่ต่ำกว่าคนทั่วไปร้อยละ 14.7
6.พฤติกรรมสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาเสพติด ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยพบว่าปี 2549 มีผู้สูบบุหรี่ 35,000 ล้านมวนต่อปี รวมไปถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า คือเพิ่มจาก 1,500 ล้านลิตร ในปี 2539 เป็น 2,500 ล้านลิตร ในปี 2549 และปัญหายาเสพติดก็เริ่มกลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
7.สิ่งแวดล้อม อาทิ การติดเชื้อต่างๆ จากสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช โดยพบมากกว่า 81 ราย ต่อประชากรแสนคน
8.ปัญหาความรุนแรง เริ่มก่อตัวขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างเท่าตัว ในปี 2550 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมด้วยคดีทำร้ายร่างกายกว่า 7,700 คดี เพิ่มจาก 4,800 คดีในปี 2546
9.วิกฤตเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร เห็นได้จากการถูกเลิกจ้างทำให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น จำนวน 460,000 คนในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 และในปี 2552 พบจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เทียบกับปี 2551
10.ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งคนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวมแล้วกว่า 134,587 ล้านบาท
นพ.พินิจ แนะนำวิธีจัดการกับปัญหาเพื่อให้วิกฤติสุขภาพของคนไทยดีขึ้นควรเน้นหนัก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.เน้นสร้างความเข้าใจในเด็กและเยาวชนเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย อาทิ ปัญหาเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต การฆ่าตัวตาย 2.สร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้สารเคมี เน้นการพึ่งพาตนเอง เสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม จัดระบบการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในชุมชน ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และ 3.สร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพแบบผสมผสาน เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค เฝ้าระวังการระบาดของโรคอุบัติใหม่ คัดกรองความเสี่ยงโรคเรื้อรัง รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการรักษาโรคเรื้อรังที่ต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสเกิดความพิการและเสียชีวิต โดยการสนับสนุนจากโรงพยาบาล ในรูปแบบของเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ