Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและปัจจัยกระตุ้นภายนอก ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ  โรคสะเก็ดเงินพบได้ทั้งเพศชายและหญิง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และกลุ่ม metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น

ลักษณะทางคลินิก
โรคสะเก็ดเงินจำแนกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้ 

ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis)
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า "โรคสะเก็ดเงิน"  พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่าซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสี 
ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบมีความผิดปกติการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือหลายข้อ  ส่วนใหญ่การอักเสบของมือจะเกิดที่ข้อนิ้วมือ  ซึ่งหากเป็นเรื้อรังและทำให้เกิดการผิดรูปได้


การรักษาโรคสะเก็ดเงิน 
แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคดังนี้
• สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก
• สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน หรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานและฉายแสงอาทิตย์เทียม

ยาทาภายนอก 
ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ได้แก่
1. ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) ส่วนใหญ่นิยมใช้ เนื่องจากเป็นครีมขาวใช้ง่าย และตอบสนองต่อการรักษาดี แต่หากใช้ยาที่แรงเกินไปร่วมกับทาเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดผิวหนังบาง และเกิดรอยแตกของผิวหนังได้ รวมถึงอาจเกิดการดื้อยา  และอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้
2. น้ำมันดิน (tar) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี แต่น้ำมันดิน มีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น เวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า อาจพบผลข้างเคียงคือเกิดรูขุมขนอักเสบ หรือระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ทายาได้
3. แอนทราลิน (anthralin, dithranol) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลผิวหนังที่ผิดปกติ แต่อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง รวมถึงผิวหนังบริเวณที่ทายามีสีคล้ำขึ้นได้
4. อนุพันธ์วิตามินดี (calipotriol) มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลผิวหนังกลับสู่ปกติ ข้อเสียของยานี้คือหากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้ และยามีราคาแพง ปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามินดีและยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้า ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง
5. ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor (tacrolimus, pimecrolimus) เป็นยากลุ่มใหม่ แพทย์บางรายนำมาใช้ในการรักษาผื่นโรคสะเก็ดเงินบริเวณหน้า หรือตามซอกพับเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากยามีราคาแพง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Business

Blog M