Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ข้อไหล่ยึดหรือข้อไหล่ติด

สำหรับผู้ที่อายุยังน้อยหรือไม่ได้ผ่านการทำงานหนักอาจจะไม่รู้จักโรคนี้ แต่สำหรับวัยกลางคนขึ้นไปและผ่านงานหนักจะประสบปัญหาเรื่องการยกไหล่ไม่ขึ้น หรือไม่สามารถถูหลังเราเรียกภาวะนี้ว่า Frozen shoulder ข้อไหล่ติด ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้คือ
  • เป็นในหญิงมากกว่าชาย
  • มักจะเริ่มเป็นอายุ 40-50 ปี
  • ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 20-30%
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ได้แก่ การที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อ การได้รับอุบัติเหตุที่ไหล่ การใช้งานมากไป คอพอกเป็นพิษ
สาเหตุของการเกิดข้อติด
สาเหตุที่แท้จริงไม่มีใครทราบแต่เชื่อว่าเกิดจากการอักเสบของเยื่อ หุ้มข้อและมีการหนาตัวของเยื่อหุ้มข้อ ทำให้ข้อเกิดการเคลื่อนไหวน้อยลง
การดำเนินของโรค
  1. ในระยะแรกจะมีอาการปวดข้อไหล่โดยเฉพาะปวดเวลากลางคืน อาการจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2-9 เดือน
  2. ระยะที่สองอาการปวดจะน้อยลง แต่จะมีการเคลื่อนไหวน้อยลงระยะนี้ใช้เวลา 4-12 เดือน
  3. ระยะที่สามจะเริ่มฟื้นตัว การขยับของข้อดีขึ้น ระยะนี้ใช้เวลา 12-42 เดือนหากไม่ดีอาจจะพิจารณาผ่าตัด
การวินิจฉัยและการรักษา
การตรวจไม่ยาก แพทย์จะให้ยกแขนขึ้นพบว่ายกแขนได้น้อยลง อาจจะต้องx-ray เพื่อตรวจว่ามีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นหรือไม่
การรักษาประกอบไปด้วย

  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การทำกายภาพ
  • การใช้น้ำร้อนหรือน้ำแข็งประคบ
  • การฉีดยา steroid เข้าข้อ
  • การบริหารเพื่อทำให้ไหล่เคลื่อนไหวได้มากขึ้น

โรคข้อเข่าเสื่อม Osteoarthritis of the knee

ข้อเข่าเสื่อมหรือโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่ข้อเข่าผ่านการใช้งานมา เป็นเวลานาน เกิดการเสื่อมของข้อ ทำให้มีการงอกของกระดูกเวลาเดินจะเจ็บข้อ มีการผิดรูปของข้อเข่า โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้สูงอายุทำให้เกิดความทรมานแก่ผู้สูงอายุเป็น อย่างยิ่ง คุณภาพชีวิตลดลง และทำให้โรคอื่นๆกำเริบ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากออกกำลังไม่ได้
โครงสร้างของข้อเข่า
ข้อเข่าของคนประกอบไปด้วยกระดูก 3 ส่วนคือ
  1. กระดูกต้นขา Femur ซึ่งเป็นกระดูกส่วนบนของเข่า
  2. กระดูกหน้าแข็ง Tibia ซึ่งเป็นกระดูกส่วนล่างของเข่า
  3. กระดูกสะบ้า Patella ซึ่งอยู่ส่วนหน้าของเข่า
ผิวของข้อเข่าจะมีกระดูกอ่อน cartilage รูปครึ่งวงกลมหุ้ม ทำหน้าที่กระจายน้ำหนัก ในข้อเข่าจะมีน้ำเลี้ยง synovial fluid เปรียบเสมือนน้ำหล่อลื่น เป็นการป้องกันการสึกของข่อเข่า เมื่อเราเดินหรือวิ่ง ข้อของเราจะต้องรับน้ำหนักเพิ่ม ดังนั้นยิ่งน้ำหนักตัวมากเท่าใดข้อต้องรับน้ำหนักมากเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีเอ็นและกล้ามเนื้อที่ทำให้ข้อเข่าแข็งแรง
กลไกการเกิดข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมหมายถึงการที่กระดูกอ่อนของเข่ามีการเสื่อม สภาพ ทำให้กระดูกอ่อนไม่สามารถเป็นเบาะรองรับน้ำหนัก และมีการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำหล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ก็จะเกิดการเสียดสี และเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อน ผิวของกระดูกอ่อนจะแข็ง ไม่เรียบ เมื่อข้อเข่าเคลื่อนไหวจะเกิดเสียงดังในข้อ เกิดอาการเจ็บปวด หากข้อเข่ามีการอักเสบก็จะมีการสร้างน้ำข้อเข่าเพิ่มทำให้เกิดการบวม ตึง และปวดข้อเข่า
เมื่อมีการเสื่อมมากขึ้น ข้อเข่าก็จะมีการโก่งงอ ทำให้เกิดอาการปวดเข่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และขนาดของจ้อเข่าก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ในที่สุดผู้ป่วยต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน บางท่านไม่เดินทำให้กล้ามเนื้อต้นขาลีบและไม่มีกำลัง ข้อจะติดเหมือนมีสนิมเกาะเท้าจะเหยียดไม่สุด
เมื่อข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น กระดูกอ่อนจะมีขนาดบางลง ผิวจะขรุขระ จะมีการงอกของกระดูกขึ้นมาเรียกว่า osteophyte เมื่อมีการอักเสบเยื่อหุ้มข้อจะสร้างน้ำเลี้ยงข้อเพิ่ม ทำให้ข้อมีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อลีบลง การเปลี่ยนแปลงของข้อจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบ ในรายที่เป็นรุนแรงกระดูกอ่อนจะบางมาก ปลายกระดูกจะมาชนกันเวลาขยับข้อจะเกิดการเสียดสีในข้อ

โรคภูมิแพ้ Allergy

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีหน้าที่ที่จะจดจำสิ่งแปลกปลอมที่จะทำร้ายร่างกายเรา เช่นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสโดยการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อสู้กับเชื้อโรค โรคภูมิแพ้เป็นภาวะที่ภูมิของร่างกายมีปฏิกิริยากับโปรตีนหรือสารก่อภูมิแพ้ allergen จากสิ่งแวดล้อมซึ่งปกติจะไม่มีอันตรายสำหรับผู้ที่ไม่แพ้ ปฏิกิริยานี้เริ่มเมื่อเราได้รับสารก่อภูมิแพ้ก็จะเกิดการสร้างภูมิที่เรียกว่า IgE antibody ตัว antibody นี้จะกระตุ้น Mast cell ให้มีการหลั่งสาร Histamin ขึ้นที่เนื้อเยื่อต่าง เช่น ผิวหนัง ปอด จมูก ลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อาการแสดงจะเกิดตามอวัยวะต่างๆ เช่นลมพิษที่ผิวหนัง คัดจมูก แน่นหน้าอกเนื่องจากหอบหืด บางรายอาจจะรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้ Anaphylaxis shock
เนื่องจากเกิดโรคภูมิแพ้เป็นจำนวนมากจึงได้มีการวิจัยหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่นพ่อแม่ พี่น้อง ก็จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่าย เด็กชายเป็นมากกว่าเด็กหญิงหากพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เด็กจะเป็นภูมิแพ้ได้ร้อยละ 30 แต่หากทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้เด็กจะมีโอกาศเป็นโรคภูมิแพ้ร้อยละ 50-60
  • สิ่งแวดล้อมของเด็กในขวบปีแรกสำคัญมาก การสัมผัสควันบุหรี่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ สะเก็ดรังแคสัตว์ การใช้ยาปฏิชีวนะ การรับประทานอาหารสำเร็จรูป เหล่านี้จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้
  • การติดเชื้อไวรัสในวัยเด็ก การที่มีเชื้อ lactobacillus ในลำไส้หรือการอาศัยใกล้ฟาร์มสัตว์จะลดอุบัติการณ์ของภูมิแพ้
การหลีกเลี่ยงหรือนำสิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ออกจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้ลดอาการของโรคภูมิแพ้และลดปริมาณการใช้ยา

พบว่าปัจจัยที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง
  • คนในเมืองอยู่บ้านมาก ติดเครื่องปรับอากาศ ไม่ออกกำลังกายทำให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • เด็กกินนมแม่น้อยลง คนรับประธานอาหารจานด่วนมาก ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้ามามาก เช่น สี สารกันบูด
  • คนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านเพิ่ม
  • การตกแต่งบ้าน ติดตั้งพรมและติดเครื่องปรับอากาศทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี เชื้อไรฝุ่นเจริญได้ดี
  • มลภาวะจากอุตสาหกรรม และการจราจร
  • การสูบบุหรี่

สารก่อโรคภูมิแพ้ในบ้านจะพบได้ตลอดปีและเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรค ภูมิแพ้คัดจมูก โรคหอบหืด ผื่นแพ้ eczema สารก่อภูมิแพ้ในบ้านที่สำคัญได้แก่
  • ไรฝุ่นพบมากบนที่นอน โซฟา
  • สะเก็ดรังแคสัตว์ น้ำลาย และเหงื่อของสัตว์เลี้ยง
  • ขนนก ของเสียแมลงสาบ รา
วิธีป้องกันสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน
  • เปิดหน้าต่างให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ โดยเฉพาะห้องครัว ห้องน้ำโดยเปิดหน้าต่างอย่างน้อยครั้งละ 1 ชั่วโมงเปิดวันละสองครั้งหากแพ้เกสรควรปิดหน้าต่างโดยเฉพาะช่วงที่มีเกสรดอกไม้มาก
  • ไม่ควรตากผ้าในห้องนอนและห้องนั่งแล่น
  • ถ้าห้องมีความชื้นมากให้เปิดให้อาการถ่ายเทให้มาก
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้
  • ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนไว้ในบ้านโดยเฉพาะในห้องนอน
  • ไม่ควรตกแต่งห้องนอนด้วยพรม หรือมีตุกตา มั่นเช็ดฝุ่นบ่อยๆ
  • ห้องนอนไม่ควรจะมีชั้น หรือหนังสือ
  • เครื่องนอนควรจะซักและต้มสัปดาห์ละครั้ง
  • งดบุหรี่ หรือทาสีในบ้าน
  • หมั่นทำความสะอาด และดูดฝุ่นบ้านและม่านกันแดด
  • กำจัดเศษอาหารให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงสาบ

๑๖ ข้อสงสัย โรคพิษสุนัขบ้า

๑. โรคพิษสุนัขบ้า มีความเป็นมาอย่างไร
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล รูปในสมัยอียิปต์โบราณแสดงให้เห็นถึงคนถูกสุนัขกัด โรคนี้พบทั่วโลก มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาท้องถิ่น แต่หมายถึง โรคที่เกิดจากถูกหมาบ้ากัด

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมทั้งค้างคาว สัตว์ที่พบว่าเป็นโรคนี้บ่อยที่สุด คือ สุนัข ทั้งสุนัขบ้า สุนัขจิ้งจอก สุนัขบ้าน รองลงมาคือ แมว แร็กคูน สกังก์ และค้างคาว
ค้างคาวที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าพบได้ทั้งในค้างคาวดูดเลือด (vampire) ซึ่งมีอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ค้างคาวกินแมลงที่พบในอเมริกาเหนือและที่อื่นๆ ค้างคาวอาจมีการติดเชื้อและเป็นพาหะโดยไม่มีอาการป่วย สำหรับสัตว์อื่นๆ ยังถกเถียงว่า มีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วไม่ตายหรือไม่

ปัญหาสัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้าแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยและในเอเชีย พบว่า สุนัขเลี้ยงและสุนัขจรจัดเป็นโรคและนำเชื้อมาสู่คนบ่อยที่สุด รองลงมาคือ แมว สำหรับหนูและค้างคาว เชื่อว่านำเชื้อโรคได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าเกือบทั้งหมดให้ประวัติว่าถูกสุนัขกัด ในยุโรปสุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญแต่ในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมาควบคุมได้ โดยการโปรยวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าชนิดกิน ให้สุนัขจิ้งจอกกิน

ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาพบปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น สัตว์นำโรคที่สำคัญ คือ แร็กคูน สกังก์ และค้างคาวกินแมลง การใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าผสมในอาหารที่ใช้เป็นเหยื่อล่อให้แร็กคูนกิน พบว่าให้ผลดี ในอเมริกาใต้ ปัญหาสัตว์นำเชื้อโรคนอกจากสุนัข แมว และสัตว์ป่าอื่นๆ ยังมีค้างคาวดูดเลือดแพร่เชื้อให้วัวควาย ทำความเสียหายแก่คอกปศุสัตว์

๒. โรคพิษสุนัขบ้า ติดต่ออย่างไร
การติดต่อส่วนใหญ่ติดต่อจากสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือเลีย หรือข่วน แล้วปล่อยเชื้อที่อยู่ในน้ำลายเข้าทางบาดแผล ในธรรมชาติการติดต่อพบจากสัตว์ไปยังสัตว์ พบบ่อยในสุนัข พบได้ในสัตว์อื่นๆ การติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์มายังคนเป็นการบังเอิญ ในธรรมชาติไมพบการติดต่อจากคนไปคน ในผู้ที่พยาบาลใกล้ชิดผู้ป่วย ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อแต่อย่างไรก็ดีสามารถแยกเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าได้จากน้ำลายผู้ป่วย ผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด มีแผลหรือรอยถลอกสัมผัสกับน้ำลายผู้ป่วยอาจติดเชื้อ การติดเชื้อจากคนไปสู่คนพบรายงานทางการแพทย์ เกิดจากการปลูกถ่ายกระจกตาที่ได้มาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า และมีรายงานการติดต่อทางการหายใจ ในผู้ที่เข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวจำนวนมากและการสูดดมเชื้อไวรัสที่นำมาปั่นศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ

๓. ทำไมชาวบ้านเรียกว่า “โรคกลัวน้ำ”
โรคพิษสุนัขบ้ามีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคกลัวน้ำหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ไฮโดรโฟเบีย (hydrophobia) เนื่องจากอาการเด่นชัดของโรคนี้ที่ต่างจากโรคอื่นๆ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเกร็งเจ็บปวดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนของเหลวทำให้ไม่กล้าดื่มน้ำ ไม่กล้ากลืนน้ำลาย แม้ว่าจะหิวน้ำ และจะแสดงอาการกลัวไม่กล้าดื่มน้ำ แต่อาจกินอาหารแข็งได้บ้าง ลักษณะอาการโรคที่สำคัญ คือ ระยะแรก จะเริ่มด้วยไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คันหรือเสียว บริเวณแผลที่เคยถูกสัตว์กัด อาการที่ชัดเจนในระยะต่อมา คือ น้ำลายและเหงื่อออกมาก กระวนกระวาย สะดุ้ง ตกใจ เมื่อมีสิ่งเร้า เช่น ลมพัด เสียงดัง มีอาการคลุ้มคลั่งสลับกับสติดีโต้ตอบได้เป็นระยะ ระยะสุดท้าย จะไม่รู้สึกตัว อาจชักหรือหมดสติ ส่วนใหญ่เสียชีวิตในเวลาไม่เกิน ๗ วันหลังจากแสดงอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการดุร้ายคลุ้มคลั่งชัดเจน แต่มีอาการซึม อัมพาต และเสียชีวิต อาการโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคนและสัตว์มี ๒ แบบ คือ แบบดุร้าย แสดงอาการชัดเจน และแบบซึม อาการไม่ชัด และเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว

๔. ทำไมโรคนี้ถึงระบาดในฤดูร้อน ในฤดูอื่นจะมีโอกาสได้รับเชื้อโรคนี้หรือไม่
โรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ พบได้ตลอดปี แต่จะมีผู้ถูกสุนัขกัด ต้องมาฉีดวัคซีนมากในฤดูร้อน เนื่องจากเด็กปิดภาคเรียน เที่ยวเล่นและสุนัขผสมพันธุ์เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะคลอดลูกอ่อนราวเดือนมีนาคม-เมษายน ในหน้าผสมพันธุ์สุนัขจะกัดกันมากกว่าฤดูอื่นจึงได้รับเชื้อ เมื่อเข้าฤดูร้อนพอดีครบระยะฟักตัว จะแสดงอาการ ลูกสุนัขจะมีโอกาสเป็นพิษสุนัขบ้ามากกว่าสุนัขโต และแม่สุนัขจะหวงลูกอ่อนกัดคนมากขึ้น

๕. ผู้ป่วยโรคนี้จะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่
ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า แสดงอาการป่วยเมื่อเชื้อไวรัสเดินทางจากบริเวณบาดแผลเข้าไปตามแขนงประสาทเข้าไปยังเซลล์ประสาท เชื้อเพิ่มจำนวนทำลายเซลล์ประสาทเมื่อแสดงอาการโรค จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย ยกเว้นในรายงานผู้ป่วย ๓ ราย ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน และได้รับการดูแลเต็มที่ แม้จะไม่เสียชีวิตแต่ก็พบความพิการเป็นอัมพาต

๖. โรคนี้สามารถป้องกันได้หรือไม่
โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ วิธีที่ได้ผลที่สุด แต่ยังทำไม่สำเร็จในขณะนี้ คือ ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขเลี้ยงทุกปี ในผู้ที่มีโอกาสถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัด ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไว้ก่อน โดยฉีดเพียง ๓ เข็ม ฉีดวัคซีนสองเข็มแรกห่างกัน ๑ เดือน และเข็มที่ ๓ เมื่อครบ ๑ ปี ถ้าถูกสัตว์สงสัยว่ามีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ ๑ หรือ ๒ เข็มก็เพียงพอ ไม่ต้องฉีดเซรุ่ม

๗. ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าแสดงอาการหลังถูกสัตว์กัดนานเท่าใด
ระยะเวลาตั้งแต่ถูกสัตว์กัดจนกระทั่งแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า เรียกว่า ระยะฟักตัว เร็วที่สุด คือ ๗ วัน ช้าที่สุดไม่เกิน ๑ ปี ส่วนใหญ่แสดงอาการในเวลา ๓ สัปดาห์ ถึง ๓ เดือนหลังถูกสัตว์กัด ถ้าถูกกัดบาด แผลฉกรรจ์ บริเวณใกล้ศีรษะ ใบหน้าหรือบริเวณที่มีเส้นประสาทมาก เช่น นิ้วมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น ถ้าถูกกัดบาดแผลไม่รุนแรง บริเวณขาหรือร่างกายส่วนล่าง จะมีระยะฟักตัวยาว

๘. ถ้าโดนสุนัขหรือสัตว์อื่นกัด ควรทำอย่างไรเป็นอันดับแรก
ถ้ามีบาดแผลจากการถูกสัตว์กัด ให้บีบเลือดออกให้มากที่สุด ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟองสบู่หรือผงซักฟอก ล้างหลายๆ ครั้งเพื่อให้น้ำลายและเชื้อที่ได้รับเข้าไปออกให้มากที่สุด แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ถ้าแผลฉกรรจ์ หรือสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า รีบไปพบแพทย์เร็วที่สุดเพื่อแพทย์จะได้ทำแผลและล้างแผลอย่างเหมาะสม และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก วัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในรายที่มีข้อสงสัยว่าสัตว์อาจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

๙. เคยได้ยินว่าการล้างแผลด้วยสบู่ทันทีที่ถูกสัตว์กัดจะฆ่าเชื้อนี้ได้ จริงหรือไม่
การล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีจะช่วยล้างน้ำลายและเชื้อต่าง ๆ ออกจากบาดแผลได้ แต่ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโดยตรงคงจะมีน้อยมาก เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเมื่ออยู่นอกร่างกายจะตายง่าย อย่างไรก็ดี ถ้าบาดแผลลึก แผลเหวอะหวะ ไม่สามารถล้างแผลได้เอง ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อล้างแผลด้วยน้ำเกลือและยาฆ่าเชื้อ

๑๐. หากโดนสัตว์กัด จำเป็นต้องนำสัตว์มาตรวจหรือไม่ และหากไม่สามารถนำสัตว์นั้นมาตรวจได้ ควรทำอย่างไร
การตรวจสัตว์ จะมีประโยชน์ในการที่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ เพื่อวางแผนในการให้วัคซีนและเซรุ่มแก่ผู้ถูกกัด ถ้าสัตว์เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนและป่วยตาย จะได้ตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน ถ้านำสัตว์มาตรวจไม่ได้ แพทย์จะตัดสินใจให้วัคซีนโดยเร็วที่สุดในรายที่สงสัยว่าสัตว์อาจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้ามีบาดแผลฉกรรจ์จะให้เซรุ่มร่วมด้วย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่จำเป็นเหมือนสมัยโบราณ สมัยก่อนใช้วัคซีนจากสมองสัตว์ ต้องฉีดติดต่อกัน ๑๗-๒๑ เข็ม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่ดี อาการแทรกซ้อนพบได้บ่อยและรุนแรง ถ้าไม่จำเป็น หรือสัตว์ที่กัดไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ก็จะไม่ฉีดวัคซีนให้ ในปัจจุบันวัคซีนปลอดภัย คุณภาพดี แต่มีราคาแพง ถ้าสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะฉีดให้เร็วที่สุดทันที

๑๑. วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของคน ขณะนี้เป็นวัคซีนบริสุทธิ์ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงและไข่เป็ดฟัก มีคุณภาพสูงกว่าวัคซีนผลิตจากสมองสัตว์ที่เคยใช้ในสมัยก่อน วัคซีนจากสมองสัตว์เลิกใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๓๕

วัคซีนที่มีจำหน่ายขณะนี้มี ๔ ชนิด คือ

๑. วัคซีนฮิวแมน ดิพลอยด์ (human diploid rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปอดคน ราคาประมาณเข็มละ ๖๖๐ บาท ฉีดทั้งชุด ๕ เข็ม

๒. วัคซีนพีซีอีซี (PCEC) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลูกไก่

๓. วัคซีนเวโร (vero cell rabies vaccine) ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงต่อเนื่องที่ชื่อว่า เซลล์เวโร มีต้นกำเนิดจากไตลิง

๔. วัคซีนบริสุทธิ์ผลิตจากตัวอ่อนไข่เป็ดฟัก (purified duck emberyo rabies vaccine)
วัคซีนทั้ง ๓ ชนิดหลังนี้ราคาประมาณเข็มละ ๒๒๐ บาท ฉีดทั้งชุด ๔ เข็ม สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ฉีดในสุนัข เตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยง แต่มีมาตรฐานการผลิตแตกต่างจากวัคซีนที่ใช้ในคน


๑๒. เมื่อไหร่ควรฉีดวัคซีน หรือเมื่อไหร่ควรฉีดเซรุ่ม วัคซีนและเซรุ่มใช้แทนกันได้หรือไม่
วัคซีนและเซรุ่มใช้แทนกันไม่ได้ แต่จะให้เซรุ่มเสริมร่วมกับฉีดวัคซีนโดยฉีดวันเดียวกับวัคซีน ในผู้ที่ถูกกัดบาดแผลฉกรรจ์ ระยะฟักตัวจะสั้น วัคซีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลา ๗-๑๔ วัน จึงจะพบแอนติบอดีที่จะคุ้มกันได้ ในกรณีเช่นนี้ จะต้องฉีดเซรุ่มซึ่งมีแอนติบอดีอยู่แล้วให้เร็วที่สุด เซรุ่มที่ใช้มี ๒ ชนิด คือ เตรียมจากเลือดม้า เรียกว่า อีริก (ERIG, Equine rabies immune globulin) และเตรียมจากเลือดคน เรียกว่า เอชริก (HRIG, Human rabies immune globulin) เตรียมโดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้ม้าหรือคนก่อนแล้วเจาะเลือดที่มีแอนติบดีมาเตรียมเซรุ่ม เพื่อนำมาใช้ในการดูแลรักษาในรายที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว เมื่อฉีดวัคซีนซ้ำ จะพบแอนติบอดีได้เร็วจึงไม่จำเป็นต้องฉีดเซรุ่ม

๑๓. ถ้าหากเคยได้รับวัคซีนแล้วและถูกสัตว์กัดซ้ำอีก จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดเป็นชุด ชุดละ ๕ เข็ม ในวันแรก , วันที่ ๓ , วันที ๗, วันที่ ๑๔ และวันที่ ๒๔ ถ้าถูกกัดในระหว่างฉีดวัคซีน ๕ เข็มนี้ ก็ไม่ต้องฉีดเพิ่มอีก แต่ถ้าถูกกัดภายใน ๖ เดือน หลังฉีดเข็มสุดท้าย ควรฉีดเพิ่มเร็วที่สุดหลังถูกกัดอีก ๑ เข็ม ถ้าเกิน ๖ เดือน ให้ฉีด ๒ เข็ม โดยฉีดเข็มแรกเร็วที่สุดถูกกัด และฉีดเพิ่มอีก ๑ เข็ม ในวันที ๓ หลังฉีดเข็มแรก ในกรณีที่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนไม่ต้องฉีดเซรุ่ม

๑๔. ถ้าสุนัขตัวที่กัดไม่ได้เป็นโรคนี่ แต่เราไปฉีดวัคซีนจะเป็นอะไรหรือเปล่า
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในปัจจุบัน คุณภาพดี ปลอดภัยแม้ว่าสุนัขตัวที่กัดจะไม่เป็นโรคก็ไม่เป็นไร นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า

๑๕. วัคซีนที่ฉีดจะคงอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นวัคซีนเชื้อตาย เมื่อฉีดครบชุดแล้ว ภูมิคุ้มกันจะสูงอยู่ในระยะหลังฉีด ๒ สัปดาห์ – ๓ เดือน แล้วเริ่มลดระดับลงต้องฉีดกระตุ้นอีก ๑ – ๒ เข็ม จึงจะทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงแล้วก็จะลดลดอีก ดังนั้น ถ้าถูกกัดบ่อย ๆ ก็ต้องฉีดทุกครั้งที่ถูกกัด แต่ลดจำนวนเหลือเพียง ๑ – ๒ เข็ม และไม่ต้องฉีดเซรุ่ม

๑๖. วัคซีนและเซรุ่มนี้มีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ และมีข้อควรระวังอย่างไร
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดบริสุทธิ์ มีผลข้างเคียงน้องมาก เช่น เจ็บบริเวณฉีด รู้สึกไม่ใคร่สบายส่วนใหญ่หายเอง ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์สงสัยว่าเป็นโรคนี้กัด ก็ต้องฉีดวัคซีนเร็วที่สุด ไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น สตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ก็ต้องฉีด โดยแพทย์ให้การดูแลเป็นพิเศษให้แน่ใจว่ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอป้องกันโรค ส่วนเซรุ่มอาจมีอาการแพ้ได้แต่พบไม่บ่อยนัก สำหรับเซรุ่ม ชนิดที่เตรียมจากเลือดม้า แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการทดสอบก่อนฉีดว่ามีโอกาสแพ้หรือไม่ ส่วนเซรุ่มที่เตรียมจากเลือดคนจะใช้ได้ปลอดภัย ไม่จำเป็นทดสอบก่อนฉีด ผลข้างเคียงอาจพบได้บ้าง คือ อาการไข้ หรือเจ็บบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย ซึ่งไม่พบอันตรายและจะหายไปได้เอง

ลดคาร์โบไฮเดรตเร็วไปทำให้ต่อมไทรอยด์รวนฮอร์โมนผิดปกติ

หากใครได้ลองทานแบบ Paleo diet (Paleo diet คือหลักการทานอาหารหลากหลายหมู่แต่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำดังในสมัยมนุษย์ยุคหินซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันมากว่านอกจากสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและเบาหวานแล้วมีผลดีต่อสุขภาพในคนปกติหรือไม่- ผู้แปล) แล้วอาจพบว่าทำให้มีพลังมากขึ้น ย่อยง่ายขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้นและช่วยให้ผอมลงอีกด้วย แต่ก็มีบางท่านที่ได้ลองแล้วกลับยิ่งโหยหาจนต้องหวนกลับไปทานคาร์โบไฮเดรตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก
อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้คล้ายกันกับอาการของโรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งแม้ว่าการตรวจจะไม่พบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ใดๆก็ตามแต่ก็หายได้โดยการทานคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นถึงวันละ 300 กรัมซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่ามากไป
เกิดอะไรขึ้นหรือ ทำไมบางคนจึงไม่ได้ผล 
ผู้ที่นิยมทานคาร์โบไฮเดรตต่ำชื่อดัง ปัญหาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เหล่านี้คือ
การลดคาร์โบไฮเดรตเร็วไปในทันทีอาจทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์รวนซึ่งแม้ว่าน้ำหนักตัวจะลดลงแต่ก็เหนื่อยง่าย ผมร่วง ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ซึ่งหายได้เองโดยการทานคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้น แม้ว่าผลการตรวจสารของต่อมไทรอยด์ TSH and T4 จะปกติแต่การตรวจอย่างละเอียดพบว่าสาร rT3 เพิ่มมากขึ้นผิดปกติซึ่งเป็นสภาวะของการ”จำศีล”นั่นเอง นอกจากนี้เรายังพบว่ามีไขมันคลอเลสเตอรอลชนิดเลวคือ LDL เพิ่มมากขึ้นผิดปกติอีกด้วยซึ่งมักจะมีเกิน 200 หน่วย การค้นพบที่สำคัญนี้คือผลจากที่อาการเหล่านี้หายได้เองทั้งหมดเพียงเมื่อทานคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องได้รับสารของต่อมไทรอยด์ T3 ช่วยเสริมด้วยเลย ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อแบบเดิมที่เชื่อกันว่าคาร์โบไฮเดรตไปกระตุ้นการหลั่งสารอินซูลินซึ่งไปเพิ่มไขมัน LDL อย่างสิ้นเชิง
ถึงแม้ผู้เขียนจะได้ดูแลผู้ทานแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำมานับพันคนแต่ยังไม่เคยพบผู้ที่มีปัญหาเหล่านี้มาก่อนเลยจนกระทั่งได้มาพบว่ามีผู้คนจำนวนหนึ่งซึ่งมีปัญหานี้
เหตุผลการทานคาร์โบไฮเดรตต่ำทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์รวน 
จากการค้นคว้าของผู้เขียนเกี่ยวกับสาร rT3 ได้พบว่าสาร thyronamines ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนี้อาจเป็นกุญแจไขปริศนาความสัมพันธ์ของคาร์โบไฮเดรตและต่อมไทรอยด์
สาร thyronamines สำคัญมากต่อระบบพลังงานในร่างกาย
งานวิจัยเมื่อปีคศ 2010 ซึ่งทำการทดลองฉีดสาร thyronamines เข้าในช่องท้องและสมองของสัตว์ทดลองได้พบว่ามีผลดังนี้คือ
ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลใช้เป็นพลังงานได้(ปกติคาร์โบไฮเดรตที่ทานเข้าไปจะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงาน- ผู้แปล)
ทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน
ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงต่ำกว่าปกติ
ทำให้การบีบตัวของหัวใจอ่อนแรงลง
ทำให้ร่างกายอ่อนแรงลงจากการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่ลดลง
ซึ่งผลเหล่านี้จะมีผลภายหลังการฉีดสารเพียงไม่กี่นาทีและมีผลต่อไปนานถึง 8-12 ชั่วโมง
ผู้เขียนเชื่อว่าสาร thyronamines ถูกสร้างจากสาร rT3 ซึ่งอีกไม่นานนี้เมื่อมีการทดลองในมนุษย์ก็จะได้พบกับความสัมพันธ์นี้อย่างแน่นอน
สิ่งสำคัญคือเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร
การเปลี่ยนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตมาเป็นไขมันจำต้องเปลี่ยนระบบของการเผาผลาญ 
พฤติกรรมของหมีในป่าซึ่งเปลี่ยนจากการกินคาร์โบไฮเดรตที่ลดลงแบบกะทันหัน(ตามฤดูกาลในต่างประเทศ-ผู้แปล)ซึ่งจะไปเพิ่มสาร rT3 และสาร thyronamines ทำให้ร่างกายของมันเปลี่ยนไปสู่การ ”จำศีล” นั่นเอง
วิธีเปลี่ยนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตมาเป็นไขมันโดยไม่ต้อง”จำศีล”ทำได้โดยการค่อยๆลด
การเลี่ยงการ”จำศีล”เมื่อจะเปลี่ยนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตมาเป็นไขมันแทนนั้นทำได้โดยการค่อยๆลดคาร์โบไฮเดรตลงแบบไม่กะทันหัน
อย่าเพิ่งท้อ ลองทำใหม่โดยการค่อยๆลด
เหตุที่คนไข้ของผู้เขียนไม่มีอาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้อาจเป็นเพราะผู้เขียนได้แนะนำให้ค่อยๆลดคาร์โบไฮเดรตลงทีละมื้อโดยเริ่มจากอาหารมื้อเช้าก่อน

Business

Blog M