โรคตาแดง ในความหมายโดยทั่วไปคือ อาการที่เยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดใต้เยื่อบุตา (conjunctiva) เนื่องจากการอักเสบ โรคตาแดงอาจจะเป็น แบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง
โรคตาแดงนี้ สามารถพบได้ตลอดปี และจะระบาดได้เป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ด้วยเหตุที่ ฝนตกก่อให้เกิดความชื้นแฉะทั่วๆ ไป ทำให้เชื้อไวรัสบางตัว เจริญงอกงามก่อโรคแก่พวกเราขึ้น
ส่วนใหญ่โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เยื่อบุตาอักเสบ เพราะ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เพศชายและเพศหญิงพบได้เท่าๆกัน เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับหวัด ใครจะเป็นก็ได้ แต่เนื่องจากในเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อย ร่วมกับการดูแลตนเอง หรือการป้องกันการติดเชื้อไม่ดีพอ จึงทำให้เป็นโรคตาแดง ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
ตาแดงเป็นอาการแสดงออกของโรคตาและโรคอื่นๆหลายชนิด ส่วนจะเป็นโรคอะไรนั้น คงต้องอาศัยคุณหมอช่วยวินิจฉัยกันอีกทีค่ะ
สาเหตุของตาแดง
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า อะดิโนไวรัส (Adenovirus) และส่วนน้อยเกิดจากเชื้อ พิโคร์นาไวรัส (Picornavirus) เป็นต้น
มีการตรวจพบเชื้อไวรัสหลายตัวด้วยกันประมาณกันว่า 2-4 ตัว ทั้งหมดให้อาการของโรคคล้ายคลึงกัน อาศัยอาการจึงไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสตัวไหน ดังนั้นในคนหนึ่งคนจึงเป็นโรคตาแดงชนิดนี้แล้วเป็นได้อีก หรือทำไมจึงไม่มีภูมิคุ้มกันดังเช่น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวอื่น ตัวอย่างเช่นเป็นโรคหัด หรืออีสุกอีใส ในตอนเด็ก คนนั้นจะไม่เป็นโรคอีกเลยตลอดชีวิต แต่โรคตาแดงระบาด คนเป็นทุกครั้งที่มีการระบาด อาจจะเนื่องจากภูมิต้านทานหลังเป็นโรคนี้ จะไม่อยู่นานหรือ เป็นจากเชื้อไวรัสคนละตัวกัน
เชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน เป็นต้น เรียกว่า โรคตาแดงระบาด (epideminc keratoconjunctivitis) มักเกิดจากไวรัส เอนเทอโร ชนิด 70 (enterovirus type 70) , ไวรัสค็อกแซกกีเอ ชนิด 24 (coxsackie virus A type 24)
ส่วนใหญ่มักติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงหรือสัมผัสถูกข้าวของเครื่องใช้ (แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว สบู่ ขันน้ำ โทรศัพท์ ฯลฯ) ที่เปื้อนเชื้อจากมือของผู้ป่วย (ที่ติดจากการขยี้ตา) หรือการใช้คอนเท็กซ์เลนส์ น้ำยาล้างตา เป็นต้น
บางชนิดอาจปนเปื้อนอยู่ในสระว่ายน้ำ เมื่อคนมาเล่นน้ำ ก็จะติดเชื้ออักเสบได้
ระยะฟักตัว 1-2 วัน ระยะเวลาในการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน
อาการและอาการแสดง
สามารถมีอาการได้ตั้งแต่น้อยถึงมาก โดยมีอาการตาแดง หนังตาบวมเล็กน้อย เคืองตาน้ำตาไหล มีขี้ตาเล็กน้อย เจ็บคอ บางรายอาจมีไข้ มีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโตกดเจ็บ อ่อนเพลียร่วมด้วย บางรายอาจมีเลือดออกที่ตาขาว
มักจะเริ่มเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงติดต่อมาอีกข้างหนึ่ง
มักพบว่าเป็นพร้อมกันหลายคน หรือมีการระบาดของโรคนี้
อาการแทรกซ้อน
ส่วนมากมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ มีเพียงส่วนน้อยมากที่อาจทำให้กระจกตาอักเสบ (ทำให้ตามัว) ซึ่งอาจเป็นอยู่นานเป็นเดือนๆ แต่ในที่สุดจะหายได้เอง
บางชนิดอาจทำให้ไขสันหลังอักเสบได้แต่พบได้น้อยมาก มักเกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร ชนิด 70 พบในวัยหนุ่มสาว หลังตาอักเสบ 5 วัน ถึง 6 สัปดาห์
การรักษา
เนื่องจากมีหลายสาเหตุที่ทำให้มีอาการตาแดง จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ถ้าสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่ยังไม่มียาที่ฆ่าเชื้อโดยตรง สามารถหายเองได้โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ การรักษาจะเป็นไปตามลักษณะอาการของโรค
แพทย์จะพิจารณาใช้ยาหยอดตาหรือป้ายตากลุ่มยาปฏิชีวนะ (ย25.9-ย25.10) ทุก 2-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ห้ามใช้ยาหยอดตา กลุ่มสเตอรอยด์ (ย25.11) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
บางครั้งถ้าอาการไม่ชัดเจน คุณหมอจำเป็นต้องใช้วิธีพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ ด้วยการใช้ก้านสำลีที่ผ่านการฆ่าเชื้อขูดที่เยื่อบุตาที่มีการอักเสบนำไปย้อมสีพิเศษและทำการเพาะเชื้อ หลังจากนั้นจึงให้การรักษาตามผลการทดสอบเบื้องต้น
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นใช้สำลีที่สะอาดชุบน้ำต้มสุก เช็ดเปลือกตาด้านนอกเพื่อเอาขี้ตาที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคออก
ถ้ามีน้ำตาไหลบ่อยๆ ให้ใช้ผ้าสะอาดซับออกแล้วนำผ้าไปซักล้างให้สะอาด ถ้าใช้กระดาษชำระ ควรทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ แต่กลับมีอาการลุกลามมากขึ้น มีอาการแทรกซ้อนจนทำให้กระจกตาเป็นแผล ตามัว ถ้าปล่อยไว้นานๆก็อาจทำให้ตาบอดได้ บางรายที่เริ่มมีอาการข้างเดียวแต่ดูแลไม่ดีก็อาจจะลุกลามจนเป็นทั้งสองข้าง หรือในบางรายที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องอยู่แล้ว ก็อาจทำให้โรคลุกลามมากขึ้นจนทำให้มีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
คำแนะนำการปฏิบัติตน
1. ผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรหยุดโรงเรียน หรือหยุดงานจนกว่าจะหาย โดยพักผ่อนให้มากๆ โดยเฉพาะการใช้สายตา ไม่ควรทำงานดึก ควรนอนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอดเวลา ยกเว้นถ้ากระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว
2. ระหว่างที่มีระบาด ควรหาทางป้องกันโดยแนะนำให้คนทั่วไประวังการสัมผัสกับผู้ป่วย ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา อย่าคลุกคลีหรือนอนร่วมกับคนที่เป็นโรคนี้ และห้ามใช้ของใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หมอน แก้วน้ำ จานชาม สบู่ ขันน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้น) ร่วมกับผู้ป่วย
3. ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปในน้ำได้
การป้องกัน
เนื่องจากตาแดงจากการติดเชื้อพบได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ตาแดงจากการติดเชื้อติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสขี้ตา น้ำตาของผู้ป่วย ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหมอนใบเดียวกันกับผู้ป่วยซึ่งอาจมีคราบน้ำตาหรือขี้ตาเปื้อนอยู่ ไม่ใช้ภาชนะหรือของใช้ร่วมกับเพื่อนที่ป่วยเป็นตาแดง การพูดคุยกันไม่ได้ทำให้เกิดการติดต่อ แต่ถ้าคนที่เป็นตาแดงและมีอาการหวัดร่วมด้วย ไอหรือจามใส่หน้าเรา อาจทำให้เราติดหวัดซึ่งอาจมีอาการตาแดงร่วมด้วยได้
ตาแดงจากการติดเชื้อ สามารถติดต่อกันได้ในระยะตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 สัปดาห์ เด็กๆมักจะหายเร็วกว่าผู้ใหญ่ หากลูกเป็นตาแดงจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆควรให้หยุดเรียน เนื่องจากยังระวังเรื่องการสัมผัสได้ไม่ดีนัก
ดังนั้นจะเห็นว่า อาการตาแดงไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เรามีวิธีรักษาให้หายได้ ควรเอาใจใส่ หมั่นสังเกตอาการ ถ้าลูกๆมีอาการตาแดง คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environmental Analysis)
-
สภาพแวดล้อมภายนอกมีอิทธิพลต่อองค์การอย่างมากก็จริง
แต่ผู้บริหารต้องมีความเข้าใจและสามารถจัดการปัจจัยภายในองค์การด้วยการดาเนินงานจึงจะบรรลุเป้าหมาย
การวิเคร...
5 ปีที่ผ่านมา