โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ทั้งนี้เพราะฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างขึ้นมาในร่างกายของเรามีหน้าที่ในการนำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานของร่างกาย
โดยปกติแล้วอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่กินเข้าไปใช้เป็นพลังงาน จะต้องถูกย่อยที่ทางเดินอาหารไปเป็นน้ำตาลขนาดเล็กๆ แล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่เลือด กระจายไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย และต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลินในการนำน้ำตาลเหล่านี้เข้าสู่เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆ นำไปใช้เป็นพลังงานในที่สุด
ทว่าภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกตินี้ เกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน ซึ่งอาจเกิดจากปริมาณฮอร์โมนอินซูลินที่มีน้อยกว่าปกติ หรือบางคนอาจมีระดับฮอร์โมนอินซูลินเป็นปกติแต่อินซูลินที่มีอยู่นี้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็ได้
สังเกตว่าเป็นโรคเบาหวานได้อย่างไร?
คำว่า “เบาหวาน” ที่เป็นชื่อเรียกโรคนี้มาจากคำไทยสองคำ คือ “เบา” ซึ่งหมายถึง ปัสสาวะ และ “หวาน” ซึ่งหมายถึงรสชาติหวาน เมื่อนำมาผสมกันก็จะหมายถึงโรคที่มีปัสสาวะรสหวาน หรือมีนัยว่ามีน้ำตาลละลายอยู่ในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน ซึ่งไม่พบในคนปกติ ทั้งนี้เพราะในเลือดมีน้ำตาลอยู่มากเกินไป น้ำตาลที่มีปริมาณสูงเกินไปนี้จะถูกขับทิ้งออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีรสหวานของน้ำตาล
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องตื่นกลางดึกมาเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะบ่อยขึ้น มีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น
ผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน
ยิ่งไปกว่านั้นมีรายงานสำรวจพบว่า “กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน” หรือผู้ป่วยจำนวนมากเป็นโรคเบาหวานแล้ว แต่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน
เมื่อไม่รู้ตัวว่าเป็นก็ไม่ได้ไปหาหมอเพื่อให้การรักษา ส่งผลให้โรคลุกลามเป็นมากขึ้น บางคนเป็นมากจนรู้สึกชาตามปลายมือปลายเท้า หรือตาเริ่มมองไม่เห็น หรือเป็นโรคไตแล้วจึงจะมาพบแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาช้ากว่าที่ควร
ใครคือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ “ผู้ที่อ้วน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน อายุตั้งแต่ ๔๕ ปีขึ้นไป และ/หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง”
ควรจะสังเกตความผิดปกติของตนเอง เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะกลางคืน มีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น และควรไปตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี จะได้ช่วยคัดกรองโรคเบาหวานแต่เนิ่นๆ จะได้ป้องกัน หรือได้รับการรักษาตามความเหมาะสม
ถ้าควบคุมเบาหวานไม่ได้ จะเกิดผลอย่างไร
ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า โรคเบาหวานคือระดับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งน้ำตาลที่ละลายอยู่ในเลือดนี้ ถ้ามีระดับสูงอยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพไป และส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญและพบได้บ่อย ได้แก่ ปลายมือปลายเท้า ไต ตา เป็นต้น
ดังนั้น จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ ทั้งนี้เพื่อสุขภาวะของอวัยวะต่างๆ
ถ้าเป็นเบาหวานแล้วจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างไร
คงจะยังจำได้ใช่ไหมครับว่า น้ำตาลในเลือด..มาจากไหน? ก็มาจากอาหารที่เรากินเข้าไป และเป็นอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเท่านั้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ได้แก่ ข้าว ข้าวเหนียว ขนมปัง แป้ง โรตี ขนมจีน น้ำตาล ฯลฯ
อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลนี้แหละเมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลแล้วดูดซึมเช้าไปในเลือด ถ้ากินอาหารประเภทนี้พอประมาณ ก็จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี
อาหารและการออกกำลังกาย เป็นคำตอบที่ดีที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยอย่างดีในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคือการออกกำลังกาย โดยเริ่มทีละเล็กทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถออกกำลังกายให้ได้ตั้งแต่ ๓-๕ ครั้งต่อสัปดาห์ และแต่ละครั้งนาน ๓๐ นาทีขึ้นไป ก็จะช่วยให้ร่างกายควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ดียิ่งขึ้น
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่จะดีต่อโรคเบาหวานเท่านั้น ยังส่งผลดีเลิศต่อทุกระบบของร่างกายอีกด้วย เปรียบได้กับ “ยาวิเศษ” ที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะและความแข็งแรงของการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท ระบบขับถ่าย ฯลฯ ช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ พักผ่อนได้เต็มที่ อารมณ์สดชื่น แจ่มใส
การใช้ “ยารักษาโรคเบาหวาน” อย่างชาญฉลาด
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว ควรจะใช้อย่างไรเพื่อให้ผลการรักษาอย่างดีที่สุด ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัด
๑. ควรปรึกษาหารือเรื่องการกินอาหารและการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร
ข้อที่สำคัญที่สุดในการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน เพราะว่ายาที่จะใช้นี้เพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เหตุที่ยกให้ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะน้ำตาลในเลือดจะสูงจะต่ำขึ้นอยู่กับอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป ถ้ากินข้าวมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น ถ้าเราลดปริมาณข้าวลง จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตามไปด้วย
นอกจากข้าวซึ่งเป็นแป้งชนิดหนึ่งแล้ว ยังรวมถึงอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ข้าวเหนียว ขนมปัง โรตี ขนมจีน น้ำตาล มันฝรั่ง บะหมี่ น้ำหวาน ฯลฯ
ในโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ซึ่งก็มาจากอาหารแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป เมื่อเรากินยารักษาเบาหวานก็ต้องการให้ไปออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ ซึ่งยาจะไปออกฤทธิ์กับน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลในเลือดมาจากอาหาร
ดังนั้น จึงควรใช้ยารักษาเบาหวานให้สัมพันธ์กับอาหารแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป จึงจะได้ผลดีและไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ขอยกตัวอย่างดังนี้
“คุณสมชายเป็นโรคเบาหวาน และต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีวิธีใช้ ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ซึ่งถ้าคุณสมชายกินอาหาร วันละ ๓ มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ก็คงไม่เป็นปัญหา
แต่ถ้าคุณสมชายกินอาหารเพียงวันละ ๒ มื้อ คือ ตอนกลางวันและตอนเย็น และถ้าคุณสมชายกินยามื้อเช้า ยามื้อนี้ก็จะไปออกฤทธิ์...โดยที่ยังไม่ได้กินอาหาร
ผลของการกินยามื้อเช้า แต่ไม่ได้กินอาหารเช้า ก็อาจทำให้ยาไปลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำเกินไป จนเกิดอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่น หวิวหวิว และเป็นลมได้”
บางคนระดับน้ำตาลต่ำมากจนเกิดอันตรายขึ้นได้ จึงขอสรุปการใช้ “ยารักษาโรคเบาหวาน” อย่างชาญฉลาด ข้อแรกว่า “ควรปรึกษาหารือเรื่องการกินอาหารและการใช้ยากับแพทย์หรือเภสัชกร” เพื่อการใช้ยารักษาเบาหวานให้สัมพันธ์กับอาหารแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป จะได้เกิดประโยชน์ในการใช้ยา ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำเกินไป หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ถ้าได้ยาไม่สัมพันธ์กับอาหาร เพราะด้วยภาวะสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบไปเสียทุกอย่าง อาหารการกินก็อาจจะไม่ได้ตรงเวลาเสมอไป จึงควรไปปรึกษาเรื่องการใช้ยารักษาเบาหวานกับแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ
๒. ควรใช้ยารักษาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
ข้อถัดมาที่สำคัญเช่นกันคือ การใช้ยารักษาเบาหวานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะยามีฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง หรือต่ำเกินไป ตราบใดที่คนเรายังกินอาหาร ซึ่งต้องประกอบด้วยแป้งและ/หรือน้ำตาลเสมอ ตราบนั้นก็ยังคงต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าอาการผิดปกติของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน มีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย ชาตามปลายมือปลายเท้า จะกลับมาเป็นปกติแล้วก็ตาม
ขอย้ำอีกครั้งว่า ระดับน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกตินี้ เกิดจากแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป นอกจากยาแล้ว เรื่อง ปริมาณแป้งและน้ำตาล และการออกกำลังกาย ก็เป็นอีก ๒ เสาหลักที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้