Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กล้ามเนื้อหัวใจตาย

หัวใจของเรา เป็นอวัยวะหนึ่ง ที่ทำงานหนักที่สุดตลอดชีวิต โดยไม่คิดยื่นใบลาพักร้อน การปั๊มเลือดซึ่งมีสารอาหาร และ ออกซิเจนไป เลี้ยงสมอง และ อวัยวะสำคัญทั่วร่างกาย จำเป็นต้องอาศัยกล้ามเนื้อ และหลอดเลือดหัวใจที่แข็งแรง เมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เกิดการอุดตันขึ้น กล้ามเนื้อ หัวใจที่ ขาดเลือดส่วนหนึ่งจะหยุดทำงาน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตตั้งแต่แรก จากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular fibrillation) ที่ไม่เกิดการบีบตัว หรือ อาจตาย จากภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา การรักษาที่ทันท่วงที รวมทั้งการ ปฏิบัติการกู้หัวใจ และการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน ให้เลือดไหลผ่านโดยเร็ว จะสามารถ ช่วยชีวิตผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดตามมาได้ บทความนี้ต้องการจะเน้นถึง ความเข้าใจอย่างง่ายๆ ในการเกิดโรค และความรู้ ในปัจจุบัน ที่ใช้รักษาโรคนี้ เพื่อเป็นแนวทาง ในการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

รอยโรคจากอดีตที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

จากการตรวจมัมมี่พระศพของกษัตริย์ Merneptah ฟาโรห์องค์หนึ่งแห่ง Exodus ดินแดนในอียิปต์โบราณ เมื่อพันกว่าปีก่อน คริสตกาล ได้มีการพบหลักฐาน การเกิดผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งต่อมาเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุ เบื้องต้นของโรคนี้ แต่มนุษย์ยังต้องใช้เวลานับพันปีกว่า ที่จะเรียนรู้ถึงกลไก และสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็น สาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรในซีกโลกตะวันตก ในประเทศ สหรัฐอเมริกา เองถึงแม้จะมีความก้าวหน้าทาง วิชาการสูง และมีแนวโน้มของอัตราตายจากโรคนี้ลดลง แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ไม่ต่ำกว่า 500,000 คนต่อปี และ มีผู้ป่วยจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ราว 1.2 ล้าน คนต่อปี สำหรับในประเทศไทยนั้น กลับตรงข้าม แม้เราจะไม่ทราบสถิติที่แน่นอน แต่การเกิดโรคนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกที และพบมากขึ้นในคนอายุน้อยลง แม้ในช่วงอายุเพียง 30-40 ปี

ไขมันตัวร้าย ผู้ก่อโรค

จากการศึกษาในปัจจุบันบ่งชัดว่า โรคนี้เริ่มเกิดที่ผนังของหลอดเลือดแดงเอง โดยมีการสะสมของไขมันโคเลสเตอรอลที่ผนังด้านใน ไขมันนี้ได้มาจากสัตว์เท่านั้น ร่างกายของเราได้รับโคเลสเตอรอลมาจาก 2 แหล่ง คือจากภายนอก ได้จากอาหารที่มีไขมันสูง (เช่น หมูหัน ขาหมู มันไก่ ไข่แดง สมอง หอย นางรม ฯลฯ) และจากภายในร่างกายเอง โดยการสร้างของตับ เราอาจแบ่งไขมัน โคเลสเตอรอลออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ โคเลสเตอรอลที่มีขนาดใหญ่ แต่มีความหนาแน่นน้อยเรียกว่า แอล-ดี-แอล (Low Density Lipoprotein Cholesterol) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อม และโคเลสเตอรอล ชนิดที่มีขนาดเล็ก แต่มีความหนาแน่นสูง ที่เรียกว่า เอช--ดี-แอล (High Density Lipoprotein Cholesterol) เจ้าตัวหลังนี้จะกลับเป็นพระเอก ช่วยขนถ่าย แอล-ดี-แอล ที่ผนังหลอดเลือดกลับไปทำลายที่ตับ เมื่อมาถึงตรงนี้ก็คงนึกภาพออกว่า ผู้ที่มีไขมันชนิด แอล-ดี-แอลสูง หรือ เอช-ดี-แอล ต่ำ ก็จะทำให้ เกิดการสะสมของไขมันในผนังมาก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

กล่าวกันว่าในชายอเมริกันที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ร้อยละ 90 จะมี แอล-ดี-แอลสะสมที่ผนังหลอดเลือด จากการศึกษาพบว่า การสะสมของไขมันนี้ เกิดตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น โดยมีลักษณะเป็นปื้นไขมันเล็กๆ สีเหลืองซึ่งอาจหายไปได้เอง หรือหายไปได้หลังจาก ได้รับการรักษา แต่ในรายที่มี แอล-ดี-แอลในเลือด สูงการสะสมจะเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นแอ่งในไขมันในผนัง โดยมีพังผืดหุ้มไว้บางๆ เมื่อเกิดเคราะห์หามยามร้าย พังผืด ซึ่งทำหน้าที่ เป็นเปลือกหุ้มไขมัน นี้เกิดปริแตกออก ก็จะทำให้ไขมันข้างใต้ ออกมาสัมผัสกับเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงจับกันเป็นกลุ่ม เกิดการอุดตันหลอดเลือดเส้นนั้นทันที เป็นผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ณ จุดนี้การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดก็ คือการขจัดก้อนเลือดที่อุดตันนี้โดยเร็ว ซึ่งอาจทำได้ด้วย การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ การใช้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด บางครั้งการปริแตกที่เกิดมีไม่มาก เป็นผลให้ก้อนเลือดที่เกิดมีขนาดไม่ใหญ่นัก ก็จะไม่เกิดการอุดตันของหลอดเลือด หากแต่จะมีการซ่อมแซม โดยอาศัยเนื้อเยื่อพังผืด และหินปูนในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้มีการหนาตัวเพิ่มขึ้น ของรอยโรคที่ผนังและจะเบียดรูหลอดเลือดให้ตีบแคบลงในที่สุด

แพทย์รักษาหลอดเลือดหัวใจอุดตันกันอย่างไร

การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน นับเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายยิ่ง เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที ถึงครึ่งหนึ่ง ณ ที่เกิดเหตุ โดยมีสาเหตุจากการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติ เป็นผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ไฟฟ้าช็อคหัวใจ ให้กลับมาเต้นปกติร่วมไปกับการปั๊มหัวใจ และช่วยการหายใจ อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ในขั้นต้น

ขั้นต่อมาคือ จะต้องรีบเปิดเส้นเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งเวลาผ่านไป (เกิน 6 ชม.) ผนังกล้ามเนื้อที่ขาดเลือด ก็จะยิ่งถูกทำลาย และอาจทำให้เกิด ภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา

ยาละลายลิ่มเลือด เป็นสารพวกเอ็นไซม์ ที่จะละลายลิ่มเลือดที่เกิดขึ้น แพทย์จะให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำ ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยจะมี ภาวะเลือดแข็งตัวช้า ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติร่วมด้วย (เช่นในทางเดินอาหาร ในสมอง) ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใหม่ๆ หรือมีประวัติแพ้ยา ก็จะไม่สามารถให้ยากลุ่มนี้ได้ โดยทั่วไปยาในกลุ่มนี้จะสามารถเปิดเส้นเลือดได้ผลในราว ร้อยละ 50-70

ในโรงพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ และมีทีมงานที่พร้อม แพทย์ผู้ชำนาญ จะสามารถใช้ลวดเล็กๆ สอดผ่านหลอดเลือดที่ตัน และทำการขยายหลอดเลือดด้วยลูกโป่ง วิธีนี้พบว่า สามารถเปิดหลอดเลือดได้สำเร็จ ถึงกว่าร้อยละ90 และพบว่าได้ประโยชน์มาก ในรายที่ผู้ป่วยเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อย่างมากจนช็อค

โรคอันตรายที่คุณอาจป้องกันได้

ผลการศึกษาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาจากหลายสถาบันยืนยันว่า ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ถ้าได้รับการลดไขมันลงมา ในระดับที่ปลอดภัย จะสามารถลดการสะสมของไขมัน ที่ผนังหลอดเลือดได้ ทำให้หลอดเลือดตีบน้อยลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ตีบมากขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถลดอัตราตายจากโรคนี้ รวมทั้งอุบัติการณ์ในการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันลงราวร้อยละ 40-70

หลักปฏิบัติที่ควรทราบคือ 1. การควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว เพื่อลดไขมันในเลือดนั้นได้ผลน้อย (สามารถลดไขมันได้ราว ร้อยละ 10) ดังนั้นหากไขมันในเลือดสูงมาก ควรควบคุมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกาย และรับประทานยาลดไขมันในเลือดร่วมด้วย
2. การเจาะเลือดตรวจไขมัน หากไขมันโคเลสเตอรอลสูง ควรตรวจไขมันอย่างละเอียด คือ โคเลสเตอรอลรวม แอล-ดี-แอล เอช-ดี-แอล ไตรกลีเซอไรด
3. ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ควรพยายามลดระดับ แอล-ดี-แอลให้ต่ำกว่า 100 มก./ดล. หรือ ระดับ โคเลสเตอรอล.รวมให้ต่ำกว่า 200 มก./ดล.
4. การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง (ถ้ามี) ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย (น้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท) ร่วมกับ การหยุดสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ต้องทำควบคู่กันไป ในควันบุหรี่มีสารพิษหลายสิบชนิด ซึ่งทำให้ผนังหลอดเลือดถูกทำลายเพิ่มขึ้น
5. การออกกำลังกายชนิดแอโรบิค ร่วมกับการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จะช่วยทำให้ระดับ เอช-ดี-แอล ในเลือดสูงขึ้น แต่ท่านควรปรึกษาแพทย์ ประจำตัวของท่านให้แน่ใจถึงความปลอดภัยเสีย ก่อนจะเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกาย


โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นโรคร้ายแรงที่มีอัตราตายสูง และมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะถ้าไม่ได้รับการแก้ไขรักษาให้ทันเวลา การป้องกันเสียก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น จึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการควบคุมไขมัน เบาหวาน ความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และงดสูบบุหรี่ เป็น สิ่งที่จำเป็นที่ท่านสามารถทำได้ หากมีความตั้งใจเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของชีวิตท่าน ซึ่งมีค่าประมาณมิได้ สำหรับบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวของท่าน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Business

Blog M