Holiday-Tourismthailand

การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปวด ๆ หาย ๆ


ปวด ๆ หาย ๆ ตามสายฝนโปรย (Twenty Four-Seven)

ความเย็นฉ่ำเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้ร่างกายของใครหลายคนเจ็บออด ๆ แอด ๆ โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยตามข้อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย สาเหตุที่อาการปวดข้อมักจะกลับมาในหน้าฝน ก็เพราะภาวะเกินของธาตุต่าง ๆ คือธาตุลมและความชื้นที่มาพร้อมกัน เข้าสู่ร่างกายและจะค้างอยู่ตามช่องว่างของกล้ามเนื้อ เรียกอีกอย่างว่า "โรคลมในเส้น" ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เกิดภาวะเลือดลมอุดตันสะสมนาน ๆ จะทำให้เกิดภาวะพร่องพลังของไตและตับ ถ้ายิ่งสะสมในอวัยวะสำคัญทั้งอาการปวดข้อจะเรื้อรัง และแก้ยากมากขึ้น

และนี่คืออีกหนึ่งสาระสุขภาพ ที่จะช่วยให้คุณอุ่นใจเมื่อมีอาการเฉียบพลันแบบ ปวด ๆ หาย ๆ ตามสายฝนโปรย ที่เรานำมาฝาก

อาการปวดข้อทั้งชนิดที่เรื้อรังและไม่เรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เมื่อร่างกายกระทบอุณหภูมิเย็น ชื้น เราจึงควรรู้จักวิธีป้องกันในแบบต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยง และรับมือกับอาการที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน และนี่คือ 7 วิธีดี ๆ ที่น่าอ่านน่าจดจำ

7 เคล็ดลับป้องกัน และบรรเทาอาการปวดข้อในหน้าฝน

1.กินป้องกันปวด

การได้รับอาหารที่มีสารต้านออกซิเดชั่นในปริมาณเล็กน้อย ได้แก่ ธาตุซีลีเนียม วิตามินซี วิตามินอี และวิตามินเอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นอาหารประจำวันควรมีผัก และผลไม้สดในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้ได้รับวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน ส่วนอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข็ง ผลอะโวคาโด และเมล็ดทานตะวัน อาหารที่มีซีลีเนียม ได้แก่ ปลาที่มีไขมันมาก ธัญพืชและไข่ นอกจากนี้ปลาที่มีไขมันมากหรือน้ำมันปลา ยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่อาจช่วยลดการ
อักเสบภายในร่างกายด้วย

2.บรรเทาด้วยอุณหภูมิประคบ

การใช้อุณหภูมิช่วย โดยใช้ความร้อน อาจจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน หรือวิธีบ้าน ๆ โบราณ ๆ อย่างใช้ใบพลับพลึงอังไฟ จากนั้นประคบข้อต่อที่เจ็บ 20 นาที ประมาณวันละ 3 ครั้ง ทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้นและช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อ แต่ถ้าใช้ความเย็น ก็สามารถบรรเทาอาการปวดได้เฉียบพลัน

3.นวดพร้อมสมุนไพร

การนวด ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ทุเลาลงได้ ส่วนการใช้ยาทาถูนวดต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ยาหม่อง จะช่วยให้หายปวดได้ชั่วคราวเช่นเดียวกับการใช้ยาแก้อักเสบในรูปครีม นวดบริเวณรอบ ๆ ข้อที่มีการอักเสบก็จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ชั่วคราวเช่นกัน การประคบด้วยสมุนไพรคือหัวไพลสด ขมิ้นชันสด การบูร เกลือ ซึ่งมักจะเพิ่มผิวมะกรูด ตะไคร้ ใบมะขามใบส้มป่อย ร่วมกับการนวดรักษาโรค หรือการใช้ยาแผนปัจจุบัน ยังสามารถบรรเทาอาการปวดข้อ ข้อฝืด ได้มากขึ้นกว่าการนวดหรือใช้ยาเพียงอย่างเดียว

4.กินสมุนไพรเผ็ด

การรับประทานสมุนไพร เน้นที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิงและอบเชย โดยเฉพาะขิงสด เพียงฝานกินวันละ 2-3 แว่น ก็ลดอาการปวดข้อได้ดีมาก เพราะขิงมีโครงสร้างโมเลกุบางอย่าง คล้ายกับยาที่ใช้รักษาโรคปวดข้อรุ่นใหม่ที่ไม่กัดกระเพาะ

5.รับประทานน้ำมันตับปลาวันละ 2 ช้อนโต๊ะ

ไอส์ลา บอสเวิร์ธ นักวิจัยจากประเทศอังกฤษ พบว่าการรับประทานน้ำมันตับปลาวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ช่วยลดอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายยิ่งเป็นอาการปวดจากโรคข้อต่ออักเสบยิ่งได้ผล และไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรแฟน หรือแม้แต่พาราเซตามอล ซึ่งหากรับประทานเป็นประจำอาจเสี่ยงต่อโรคความดันสูงและโรคหัวใจ ถึงแม้น้ำมันตับปลาจะไม่สามารถรักษาโรคข้ออักเสบได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หาง่าย ราคาถูก และไม่เป็นอันตรายอีกด้วย

6.บำบัดด้วยเถาวัลย์เปรียง

จากการทดลองวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นานกว่า 10 ปี พบว่า "เถาวัลย์เปรียง" มีสารสกัดจากลำต้นมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด ต้านการอักเสบสามารถใช้แทนยาแก้อักเสบประเภท สเตียรอยด์ ที่เป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคปวดหลังและปวดตามข้อได้ และได้ผ่านการทดสอบทางคลินิกกับคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ผลดี พบว่าร่างกายสามารถดูดซึมยาตัวนี้ได้ดี ไม่มีพิษหรือผลข้างเคียงต่อร่างกาย ทั้งยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อีกด้วย ที่สำคัญ ยาสมุนไพรไม่มีผลข้างเคียง เพราะไม่มีสารเคมี

7.ออกกำลังบริหารข้อบ่อย ๆ

เคลื่อนไหวข้อ และฝึกกายบริหารเป็นประจำทุกวัน อย่าอยู่นิ่ง ๆ เพราะยิ่งอยู่นิ่ง ข้อยิ่งแข็งฝืดและขยับยากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรฝึกกายบริหารในท่าต่างๆ ท่าละ 10 ครั้ง ทำซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยทำให้ข้อลดความฝืดและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การออกกำลังกายในสภาพไร้น้ำหนัก เช่น ว่ายน้ำ เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ ที่สำคัญควรรู้สมดุลร่างกายของตัวเองว่าเมื่อใดควรพักข้อที่อักเสบ และเมื่อใดควรให้ข้อนั้นออกกำลังกาย จะช่วยให้รับมือกับโรคได้ดีขึ้น เช่น เมื่อข้อเกิดการอักเสบรุนแรงขึ้น ให้หยุดการออกกำลังบริเวณข้อทันที และเริ่มออกกำลังใหม่เมื่อการอักเสบลดลงแล้ว

5 วิธีง่าย ๆ ป้องกันเชื้อราที่มากับหน้าฝน

5 วิธีง่าย ๆ ป้องกันเชื้อราที่มากับหน้าฝน (Woman's Story)

เมื่อมีฝน สิ่งที่ตามมาก็คือความเปียกชื้นแล้วก็เชื้อรานะคะ เพราะฉะนั้น หากไม่อยากให้เชื้อรารุกล้ำเข้ามาทำร้ายก็ต้องดูแลตัวเองดี ๆ หลังจากไปโดนฝนมาค่ะ ซึ่งวันนี้ก็มีเกร็ดความรู้ในเรื่องนี้มาแนะนำให้เอาไปใช้กันค่ะ


1.ยกเท้าสูงเข้าไว้

เวลาเดินลุยน้ำขัง ไม่ควรเดินให้เท้าอยู่ใต้น้ำ เพราะอาจไปเดินไปเตะโดนของมีคม หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดแผลได้ ซึ่งเมื่อเกิดแผลก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้

2.ทำความสะอาดทันที

เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบถอดรองเท้า ถุงเท้าออก และทำความสะอาดโดยใช้สบู่ฟอกให้ทั่วตรงบริเวณที่โดนน้ำ โดยเฉพาะซอกนิ้ว ซอกเล็บ ล้างให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง และทาแป้งบนหลังเท้าจะช่วยทำให้เท้ารู้สึกสบายไม่อับชื้น

3.อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า

เพื่อไม่ให้เป็นการหมักหมมของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำ ให้รีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน แต่ถ้าไม่สามารถอาบน้ำได้ ก็ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่แทนได้ จะได้ไม่เป็นหวัด

4.สระผมให้สะอาด

เพื่อเป็นการกำจัดเชื้อโรคที่มากับฝนก็ควรสระผมให้สะอาด และควรรอให้แห้งก่อนเข้านอน ไม่อย่างนั้นอาจเป็นรังแคหรือเชื้อราได้

5.เตรียมพร้อมรับมือเสมอ

เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝนควรพกร่มติดตัวไว้เสมอ พร้อมทั้งดูแลตัวเองให้อับชื้นน้อยที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราได้มากขึ้น

วิธีดูแลตัวเองเมื่อต้องเดินตากฝน

1. เริ่มต้นจากการทำเสื้อผ้าให้แห้งสนิท โดยเร็ว

2. เมื่อกลับถึงบ้านให้คุณรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที เหตุผลก็คือการใส่เสื้อผ้าเปียกๆ ก่อให้เกิดการหมักหมม และอาจกลายเป็นแหล่งเชื้อราโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ และอาจทำให้คุณไม่สบายเป็นหวัด รวมไปถึงเป็นปอดบวมได้อีกด้วย

3. แน่นอนที่ถุงเท้ากับรองเท้าย่อมเปียกฝน เพราะฉะนั้นให้คุณถอดออกทันที และควรเร่งทำให้แห้งแต่โดยเร็ว

4. เราควรเรียนรู้ว่าการปล่อยให้เท้าเปียกชื้นนานๆ ส่งผลให้เท้าซีด และอาจลอกเป็นขุยได้

5. คุณต้องเข้าใจว่าหากปล่อยให้เท้าชื้นนานๆ อาจจะทำให้ติดเชื้อราได้ง่าย ทั้งนี้ โรคเชื้อราที่พบบ่อยคือ ฮ่องกงฟุต โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า

6. เมื่อกลับมาถึงบ้าน และเท้ายังเปียกชื้น อันเป็นผลมาจากการย่ำน้ำในซอยของหมู่บ้าน ให้คุณเร่งทำความสะอาดที่เท้าด้วยการฟอกสบู่ จากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาด ต่อมาก็เช็ดเท้าให้แห้ง

7. การใช้แป้งฝุ่นทาที่เท้าหลังทำความสะอาดจะช่วยให้เท้าสบายมากขึ้น


วิธีการดูแลเส้นผม

1. เมื่อกลับมาถึงบ้านให้คุณเร่งทำความสะอาดเส้นผม ด้วยการสระผมด้วยแชมพูสระผมหรือผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมไปเลย

2. จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณอาจจะต้องใช้แชมพูสระผมที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา นั่นเป็นเพราะว่าการที่คุณเดินตากฝนนั้น อาจจะมีเชื้อโรคปะปนมา และการที่คุณไม่ยอมสระผมในค่ำคืนนั้นเลยเส้นผมของคุณอาจเกิดอาการได้รับเชื้อราและรังแคได้ เพราะฉะนั้นให้สระผมหลังจากที่คุณเพิ่งเดินตากฝน

3. ที่สำคัญก็คือคุณไม่ควรนอน ในขณะที่เส้นผมยังเปียกน้ำฝนอยู่

เคล็ดลับที่ทำให้คุณตื่นมาพร้อมความสดชื่น

แค่ลืมตาตื่นก็ยากอยู่แล้ว แถมยังต้องมาทนกับเสียงนาฬิกาปลุกตอนเช้าอีก เมื่อคิดถึงเรื่องเอกสารที่กองอยู่บนโต๊ะแล้ว ไม่อยากจะพลิกตัวลุกขึ้นไปอาบน้ำเลยจริง ๆ หลังจากอาบน้ำเสร็จ ก็ต้องมาแต่งหน้าแต่งตัวอีก จะส่งกระจกทีไรก็เห็นขอบตาคล้ำ ๆ ทุกที เห็นแล้วปวดใจจริง ๆ ซึ่งกว่าจะได้ออกจากบ้านก็เหลือเวลาไม่เท่าไหร่แล้ว ไปจะทำงานก็ต้องปวดหัวกับเรื่องรถติดอีก แค่คิดก็ปวดหัวแล้ว ชีวิตของคนธรรมดานี่ ไม่ธรรมดาจริง ๆ เลยนะ

วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยนำเรื่องราวดี ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับคุณเตรียมตัวตั้งรับกับเช้าวันใหม่ที่แสนจะยุ่งยากมาบอกกัน ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
1. เตรียมชุดที่จะใส่ในวันพรุ่งนี้ไว้ทุกครั้ง

สิ่งที่ทำให้คุณเสียเวลามากที่สุด และต้องมาตอกบัตรที่บริษัทแบบฉิวเฉียด กึ่ง ๆ สาย ทุกครั้ง นั่นก็เป็นเพราะคุณมัวแต่เสียเวลาไปกับการค้นตู้เสื้อผ้านะสิ และคิดว่าวันนี้จะใส่ชุดสีอะไรดีนะ (ยังไม่รวมเวลาแต่งหน้านะ) กว่าจะตัดสินใจได้ก็ปาเข้าไปเป็นชั่วโมงแล้ว ถ้าไม่อยากเป็นแบบนี้อีก ก็ลองเปลี่ยนวิธีใหม่นะคะ โดยคิดไว้ซะตั้งแต่เนิ่น ๆ เลยว่าพรุ่งนี้คุณจะใส่อะไรไปทำงาน ทั้งเสื้อผ้า ทั้งกระโปรง ลายไหนสีไหนก็คิดให้เสร็จ แล้วเอามาแขวนไว้หน้าตู้ ครั้งต่อไปก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลายืนปวดหัวเลือกเสื้อผ้าทุกเช้าอีก

2. เตรียมของใช้ให้พร้อม

ทั้งกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ สมุดจดตารางนัดหมาย ฯลฯ สิ่งสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่คุณจะต้องใช้ หยิบใส่กระเป๋าให้พร้อม และถ้าในคืนนั้นคุณต้องชาร์จแบตมือถือทิ้งไว้ทั้งคืนละก็ คุณก็ควรแปะโน้ตเตือนความจำไว้ที่กระเป๋าด้วยนะคะ และก่อนจะสะพายกระเป๋าออกจากบ้านก็ลองเช็คของในกระเป๋าดูอีกครั้งว่า คุณมีของครบแล้วหรือยัง ถ้าเช็คดูจนมั่นใจแล้วก็ออกไปทำงานได้เลย อ้อ! อย่าลืมกุญแจบ้าน หรือกุญแจรถนะคะ จะหาว่าเราไม่เตือน

3. เตรียมอาหารให้ท้องอิ่ม

เราไม่ได้ให้คุณทำอาหาร แล้วกินเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืนนะคะ แต่เราให้คุณเตรียมอาหารไว้สำหรับวันถัดไปต่างหาก คุณอาจจะแพ็คใส่กล่องข้าว หรือถุงแล้วนำไปแช่ตู้เย็น วันรุ่งขึ้นก็แค่นำอาหารไปเวฟ หรืออุ่นอาหารให้สุก แค่นี้ก็ประหยัดเวลาทำอาหารไปได้อีกเยอะเลย และที่สำคัญคุณก็ไม่ต้องตื่นเช้ามาทำอาหารในสภาพหลับ ๆ ตื่น ๆ อีกต่อไป
4. แปะโน้ตสำคัญเอาไว้

ถ้าวันนี้คุณติดประชุม หรือมีนัดทานข้าวกับลูกค้า หรือจะออกไปท่องราตรีกับเพื่อน ๆ ก็ควรติดข้อความบอกที่บ้านของคุณไว้หน่อยก็ดีนะคะ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องมานั่งรอคุณกลับบ้านดึก ๆ อย่างเช่น คืนนี้กลับดึกนะ มีนัดกับลูกค้า หรือวันนี้ออกไปเที่ยวกับเพื่อนไม่ต้องทานข้าว หรือสารพัดข้อความที่คุณอยากจะบอกกับคนในบ้าน ก็ติดเอาไว้ในที่ที่พวกเขาเห็นได้ง่าย ๆ อย่างเช่น ตู้เย็น หรือบนกระดาน เพียงแค่นี้พวกเขาก็จะรู้แล้วว่า วันนี้คุณจะไปทำอะไรที่ไหน ถ้าหากคุณกลับผิดเวลา พวกเขาก็จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงยังไงล่ะคะ

5. ทำอาหารเช้าได้ง่าย ๆ นิดเดียว

บางคนอาจจะละเลยมื้อสำคัญ อย่างเช่นอาหารมื้อเช้าไป เพราะต้องรีบออกไปทำงาน เลยไม่อยากเสียเวลากินข้าวที่บ้าน ถ้าอย่างนั้นลองเปลี่ยนวิธีกินอาหารดีไหมคะ แค่เปลี่ยนไปทานอาหารกินง่ายให้พลังงานสูงอย่างเช่น กล้วย ขนมปังโฮลวีต ซีเรียล กันดีกว่าไหม ทั้งประหยัดเวลา ทั้งได้คุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งคุณจะได้ไม่พลาดมื้อสำคัญของวันด้วย

6. บันทึกรายรับ - รายจ่ายประจำวัน

ถ้าไม่อยากจะเจออาการสิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจละก็ คุณควรวางแผนไว้เลยว่า ในหนึ่งเดือนคุณมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และในแต่ละวันคุณจะใช้จ่ายเงินวันละเท่าไหร่ เมื่อถึงตอนเช้า คุณก็แค่ก็เตรียมเงินให้เท่ากับจำนวนที่คุณตั้งไว้ และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ใช้เงินเกินงบ แค่นี้ก็คุณก็มีเงินเก็บได้ไม่ยาก และนี่ยังเป็นวิธีที่จะช่วยคุณควบคุมการใช้เงินได้ดีอีกด้วย ส่วนเงินที่เหลือในแต่ละวัน คุณจะเอาไปแฮงค์เอ้าท์กับเพื่อน ๆ หรือจะเก็บเข้าธนาคารสะสมดอกเบี้ยเล่น ๆ ก็ได้ (แต่แนะนำว่าวิธีหลังดีกว่านะคะ)

โรคมือ เท้า ปาก Hand Foot and Mouth Disease

โรคมือ เท้า ปาก หรือ Hand, Foot and Mouth Disease มักเรียกติดปากกันว่า โรคมือ เท้า ปาก เปื่อย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยพบการระบาดของ โรคมือ เท้า ปาก เมื่อปี พ.ศ.2500 กับเด็กในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้และยังมีตุ่มน้ำใสในช่องปาก มือ และเท้า

ต่อมายังพบการระบาดกับกลุ่มเด็กในเมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อปี พ.ศ.2502 เช่นกัน จนได้มีการเรียกกลุ่มอาการที่พบนี้ว่า Hand-Foot-and Mouth Disease (HFMD) หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก จะมีการระบาดแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หากเป็นประเทศเขตหนาวจะพบในช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศเขตร้อนชื้นจะพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดมากในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศร้อนชื้น และมักพบในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อกันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย สามารถติดต่อได้โดย

การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ทั้งจากจมูก, ลำคอ และน้ำจากในตุ่มใส (Respiratory route) โดยเชื้อโรคอาจติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือการไอจามรดกันก็ได้

ทางอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ (fecal - oral route ) โดยช่วงที่แพร่กระจายมากที่สุด คือ ในสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการ และจะยังแพร่เชื้อได้จนกว่ารอยโรคจะหายไป แต่ก็ยังพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์

ทั้งนี้ เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน โรคนี้ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คนได้
โดยทั่วไป โรคมือ เท้า ปาก มักจะมีอาการไม่รุนแรง โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-6 วัน และมีอาการเริ่มต้นคือ เป็นไข้ต่ำ ๆ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มเจ็บปาก ไม่ยอมทานอาหาร เพราะมีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม โดยตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบแผลจะอักเสบแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น จากนั้นจะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น แขน ขา และอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ในเด็กทารกอาจพบกระจายทั่วตัวได้ ทั้งนี้อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน โดยทิ้งรอยแผลเป็นให้เห็น

อย่างไรก็ตาม โรคมือ เท้า ปาก อาจแสดงอาการในหลายระบบ เช่น

1.ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ มีน้ำมูกใส เจ็บคอ

2.ทางผิวหนัง

3.ทางระบบประสาท เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ

4.ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำเล็กน้อย ปวดหัว อาเจียน

5.ทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ (chemosis and conjuntivitis) และ

6.ทางหัวใจ เช่น สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเกิดผื่น ตุ่ม ที่มือ เท้า และปากนานเกิน 3 วัน แล้วยังมีอาการซึมตามมาด้วย ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาการซึมเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เชื้อกำลังเข้าสู่สมองแล้ว และหากปล่อยไว้ไม่ยอมมารักษา เชื้อจะเข้าไปในสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ จนทำให้หัวใจล้มเหลว และเกิดน้ำท่วมปอดจนเสียชีวิตได้

การรักษา โรคมือ เท้า ปาก

ปกติแล้วโรคมือ เท้า ปาก สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงต้องใช้ภูมิคุ้มกันของตัวเองต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งนี้ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทั้งนี้ ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ให้อาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำและผลไม้ และนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจต้องป้อนนมแทนการให้ดูดจากขวดนม

หลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิดโรคมือ เท้า ปาก ซ้ำได้ จาก เอนเทอโรไวรัสตัวอื่น ๆ ดังนั้น หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกมีอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า ก็ควรพาบุตรหลานมาพบแพทย์
การป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก แต่โดยปกติป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้ โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

ที่สำคัญ คือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน

หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน

Business

  • การซื้อของผู้บริโภค - พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค หมายถึง พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคขึ้นสุดท้ายที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกินเองใช้เอง หรือเพื่อกินหรือใช้ภายในครัวเรือน ผู้บ...
    3 ปีที่ผ่านมา
  • แนวข้อสอบพระราชบัญญัติปิโตรเลียม - 1. พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ให้ไว้ ณ วันใด ก. ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ค. ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ข. ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ง....
    7 ปีที่ผ่านมา

Blog M